ซีเมนส์และไมโครซอฟท์ ร่วมขับเคลื่อนศักยภาพภาคอุตสาหกรรมผ่านเทคโนโลยี Generative AI

ซีเมนส์และไมโครซอฟท์ ร่วมขับเคลื่อนศักยภาพภาคอุตสาหกรรมผ่านเทคโนโลยี Generative AI

ซีเมนส์และไมโครซอฟท์ ร่วมขับเคลื่อนศักยภาพภาคอุตสาหกรรมผ่านเทคโนโลยี Generative AI

    • แอปฯ ใหม่ของซีเมนส์ใน Teamcenter สำหรับ Microsoft Teams ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพิ่มศักยภาพและพัฒนานวัตกรรมครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์
    • ตัวช่วยที่เสริมกำลังด้วย Azure OpenAI Service สามารถต่อยอดการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพและแก้ไขข้อบกพร่องของโค้ดในซอฟต์แวร์สำหรับระบบอัตโนมัติในโรงงาน
    • Industrial AI ช่วยสนับสนุนการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากการประมวลผลข้อมูลรูปภาพเสมือนการมองเห็นของมนุษย์ในพื้นที่การผลิต

ซีเมนส์และไมโครซอฟท์ร่วมมือดึงศักยภาพเทคโนโลยี Generative AI มาช่วยธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้สามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ขับเคลื่อนนวัตกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพ ตั้งแต่การออกแบบ กระบวนการด้านวิศวกรรม การผลิต รวมถึงการดำเนินงานในวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ

โดยหลายบริษัทกำลังนำซอฟต์แวร์ Teamcenter® ของซีเมนส์ซึ่งเป็นโซลูชันทางด้านการจัดการวงจรผลิตภัณฑ์ (Product Lifecycle Management หรือ PLM) ไปทำงานร่วมกับ Teams ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการทำงานร่วมกันของไมโครซอฟท์ และใช้โมเดลภาษาใน Azure OpenAI Service รวมไปถึงความสามารถทางด้านอื่น ๆ ของ Azure AI

ที่งานแสดงสินค้าทางเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก – Hannover Messe ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป ซีเมนส์และไมโครซอฟท์แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยี Generative AI สามารถช่วยยกระดับระบบอัตโนมัติและการดำเนินงานภายในโรงงาน ผ่านการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ การรายงานปัญหาและการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากการประมวลผลข้อมูลรูปภาพ

สก็อตต์ กูทรี รองประธานบริหารด้านเทคโนโลยีคลาวด์และ AI ของไมโครซอฟท์ กล่าวว่า “การผสานรวมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ากับแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีต่าง ๆ จะเปลี่ยนวิถีการทำงานและวิธีดำเนินงานของทุกธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง การร่วมมือกับซีเมนส์ทำให้เราสามารถนำศักยภาพของ AI ไปใช้ในองค์กรอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งช่วยลดขั้นตอนที่ซับซ้อนของกระบวนการดำเนินงาน ทำลายกำแพงการทำงานแบบไซโล เพิ่มการทำงานร่วมกันอย่างเปิดกว้างมากขึ้น เพื่อเร่งพัฒนานวัตกรรมที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง”

แอปพลิเคชั่นสำหรับการทำงานร่วมกันที่ขับเคลื่อนด้วย AI เชื่อมต่อการทำงานระหว่างพนักงานในส่วนการผลิตกับส่วนอื่น ๆ

ด้วยศักยภาพของแอปฯ ใหม่ใน Teamcenter สำหรับ Microsoft Teams ที่คาดว่าจะเปิดตัวในปีนี้ จะช่วยให้วิศวกรด้านการออกแบบ พนักงานส่วนหน้างาน และทีมอื่น ๆ ในองค์กรสามารถทำงานและแก้ปัญหาร่วมกันได้อย่างราบรื่นขึ้น ตัวอย่างเช่น วิศวกรฝ่ายบริการหรือฝ่ายผลิตสามารถใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่จดบันทึกและรายงานเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือข้อกังวลด้านคุณภาพโดยใช้ภาษาพูด ด้วยความสามารถของ Azure OpenAI Service แอปฯ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลคำพูดที่ไม่เป็นทางการ สร้างรายงานสรุปโดยอัตโนมัติและบันทึกเข้าสู่ระบบ Teamcenter เพื่อแจ้งไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบทางด้านวิศวกรรมหรือทางด้านการผลิตได้อย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้การมีส่วนร่วมเป็นไปได้อย่างง่ายดายขึ้น พนักงานจะสามารถบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ในภาษาพูด ที่จะได้รับการแปลเป็นภาษาทางการที่ใช้ภายในบริษัทด้วย Microsoft Azure AI โดย Microsoft Teams

นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ใช้งานง่าย อาทิ การแจ้งเตือนเพื่อลดความซับซ้อนของการอนุมัติในกระบวนการทำงาน ลดเวลาที่ใช้ในการร้องขอการเปลี่ยนแปลงด้านการออกแบบ และเพิ่มความเร็วของวงจรนวัตกรรมแอปฯ Teamcenter สำหรับ Microsoft Teams สามารถช่วยให้พนักงานหลายล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือ PLM ในปัจจุบัน สามารถส่งข้อมูลผลกระทบด้านการออกแบบและกระบวนการผลิตได้ง่ายขึ้นโดยจะเป็นส่วนหนึ่งของเวิร์กโฟลว์การทำงานที่มีอยู่

วิศวกรรมซอฟต์แวร์อัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI ช่วยให้โรงงานดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ซีเมนส์และไมโครซอฟท์ยังร่วมมือกันเพื่อช่วยนักพัฒนาซอฟต์แวร์และวิศวกรระบบอัตโนมัติเพิ่มความเร็วในการพัฒนาโค้ดสำหรับ Programmable Logic Controllers (PLC) ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ในระดับอุตสาหกรรมที่ควบคุมเครื่องจักรส่วนใหญ่ในโรงงานทั่วโลก โดยได้สาธิตให้เห็นแนวคิดว่า ChatGPT ของ OpenAI และ Azure AI Service อื่น ๆ จะสามารถส่งเสริมโซลูชันวิศวกรรมระบบอัตโนมัติในทางอุตสาหกรรมของซีเมนส์ได้อย่างไร ซึ่งการสาธิตแสดงให้เห็นว่าทีมวิศวกรสามารถลดเวลาและความน่าจะเป็นของข้อผิดพลาดได้อย่างมาก โดยการสร้างรหัส PLC ผ่านการป้อนข้อมูลด้วยภาษาที่ใช้สื่อสารโดยทั่วไป (Natural Language) ซึ่งความสามารถเหล่านี้ยังช่วยให้ทีมบำรุงรักษาสามารถระบุข้อผิดพลาดและสร้างโซลูชันของแต่ละขั้นตอนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

เซดริค ไนเค กรรมการบริหาร ซีเมนส์ เอจี (Siemens AG) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ Digital Industries กล่าวว่า  “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงและทรงพลังที่กำลังเกิดขึ้นเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ซีเมนส์และไมโครซอฟท์ร่วมมือกันเพื่อปรับใช้เครื่องมืออย่าง ChatGPT เพื่อให้เราสามารถสนับสนุนพนักงานในองค์กรทุกขนาดให้ใช้วิธีใหม่ในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ”

ค้นหาและป้องกันการเกิดข้อบกพร่องในผลิตภัณฑ์ด้วย Industrial AI

การตรวจพบข้อบกพร่องในการผลิตได้ตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นเรื่องสำคัญเพื่อป้องกันการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลามากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เชิงอุตสาหกรรม (หรือ Industrial AI) ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer Vision) เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลภาพ ช่วยให้ทีมงานควบคุมคุณภาพทำงานได้เร็วขึ้น ระบุความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น และปรับเปลี่ยนได้แบบเรียลไทม์ได้เร็วยิ่งขึ้น ที่งาน Hannover Messe ทีมงานได้สาธิตถึงวิธีการใช้ Microsoft Azure Machine Learning และ Siemens’ Industrial Edge วิเคราะห์ภาพที่ถ่ายด้วยกล้องและวิดีโอ เพื่อนำมาสร้าง ปรับใช้ ทำงาน และตรวจสอบโมเดลการมองเห็นของเทคโนโลยีเอไอ (AI Vision Model) ในพื้นที่การผลิต

ความร่วมมือนี้เป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ที่ยาวนานกว่า 35 ปีระหว่างซีเมนส์และไมโครซอฟท์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกับลูกค้าหลายพันราย และทั้งสองบริษัทยังมีความร่วมมือกันในด้านอื่น ๆ อาทิ การพัฒนาโซลูชัน Senseye on Azure ที่ช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถดำเนินงานด้านการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) ในระดับองค์กร พร้อมสนับสนุนลูกค้าที่ต้องการโฮสต์แอปพลิเคชันทางธุรกิจของตนไว้ใน Microsoft Cloud เพื่อใช้โซลูชันต่าง ๆ จาก Siemens Xcelerator ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มธุรกิจดิจิทัลแบบเปิดของซีเมนส์ รวมถึงแอปฯ Teamcenter บน Azure นอกจากนี้ซีเมนส์ยังร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในการเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้าน Zero Trust

ซีเมนส์ โชว์เทคโนโลยีการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเพื่อผลักดันความเป็นกลางทางคาร์บอน ในงาน SETA 2022 และ Enlit Asia

ซีเมนส์ โชว์เทคโนโลยีการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเพื่อผลักดันความเป็นกลางทางคาร์บอน ในงาน SETA 2022 และ Enlit Asia

ซีเมนส์ โชว์เทคโนโลยีการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเพื่อผลักดันความเป็นกลางทางคาร์บอน ในงาน SETA 2022 และ Enlit Asia

ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 กันยายน นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) ที่ บูธ C02 ในงาน SETA 2022 และบูธ 401 ในงาน Enlit Asia

    • โซลูชัน Intelligent Microgrid Control สำหรับการมอนิเตอร์และการควบคุมโครงข่ายไฟฟ้า ช่วยให้องค์กรสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ มาใช้แบบเรียลไทม์ อาทิ ใช้เพื่อการวิเคราะห์และการตัดสินใจ ขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งโซลูชันนี้มีการใช้งานแล้วกับโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
    • โซลูชัน RUGGEDCOM advanced networking นำเสนอการสื่อสารสำหรับพลังงานไฟฟ้าที่รวดเร็วและไว้วางใจได้ พร้อมใช้แนวทางการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์แบบองค์รวมช่วยเตรียมพร้อมการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
    • โซลูชัน Industrial 5G สำหรับการจำหน่ายและส่งไฟฟ้า

พลังงานไฟฟ้าคือหัวใจหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ทั่วโลกต้องการแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน ในราคาเหมาะสมและเชื่อถือได้ ซีเมนส์สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างต่อเนื่องไปสู่ระบบพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเน้นความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ภายในงาน SETA 2022 และ Enlit Asia ที่จัดขึ้นในพื้นที่เดียวกันนี้ ซีเมนส์ได้นำเสนอนวัตกรรมล่าสุดเพื่อช่วยผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภค ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ องค์กรที่ดำเนินงานด้านวิศวกรรม การจัดซื้อ และการก่อสร้าง (EPC) และพันธมิตรในอุตสาหกรรมพลังงาน เปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

เทคโนโลยีและโซลูชันของซีเมนส์ที่จัดแสดง ในงาน SETA 2022 (ณ บูธ C02)

โซลูชันการจัดการไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตพลังงานปลอดคาร์บอน

    • Intelligent Microgrid Control with maximum flexibility: ระบบการจัดการพลังงานจากแหล่งจ่ายพลังงานหลากหลายที่สามารถรวมเข้ากับระบบควบคุมที่มีอยู่เดิมได้อย่างราบรื่นและปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย แต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานตามความต้องการใช้ไฟฟ้า ประสิทธิภาพของระบบ หรือต้นทุนการผลิตไฟฟ้า
    • blue Gas-insulated Switchgear (GIS) : 100% sustainable performance: นวัตกรรมสวิตช์เกียร์ที่มาพร้อมระบบดิจิทัล มีขนาดเล็ก ไม่ต้องบำรุงรักษา และที่สำคัญคือปราศจากสารฟลูออรีนที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยนวัตกรรม blue GIS ของซีเมนส์ช่วยสนับสนุนให้เกิดระบบจำหน่ายไฟฟ้าอย่างยั่งยืนเต็มประสิทธิภาพ
    • Energy Intelligence with Internet of Things (IoT): นวัตกรรมแอปพลิเคชัน IoT ที่ช่วยสนับสนุนให้ระบบจัดจำหน่ายไฟฟ้ามีความเป็นดิจิทัล อาทิ NXpower Monitor สำหรับใช้ในการตรวจสอบและแสดงข้อมูลพลังงานไฟฟ้าแบบเสมือนจริงได้จากทุกที่ทั่วโลกตลอด 24/7 และแอปพลิเคชันบนคลาวด์ SIPROTEC dashboard สำหรับให้ผู้ปฎิบัติงานในสถานีไฟฟ้าตรวจสอบอุปกรณ์รีเลย์ป้องกันที่เชื่อมต่ออุปกรณ์จากหลากหลายแหล่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เทคโนโลยีและโซลูชันของซีเมนส์ที่จัดแสดง ในงาน Enlit Asia (ณ บูธ 401)

ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ RUGGEDCOM สำหรับการสื่อสารของสถานีไฟฟ้าดิจิทัลที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้

      • Rugged communications for electric power systems: อุปกรณ์เครือข่ายที่มีความทนทาน ถูกออกแบบให้เชื่อมต่อกับเครือข่ายสำรองแบบไร้รอยต่อ และมีความปลอดภัยทางไซเบอร์แบบองค์รวมสำหรับการสื่อสารที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้สำหรับสถานีไฟฟ้าดิจิทัล (ได้แก่ อุปกรณ์ที่ผ่านการรับรองในตระกูล IEC 61850-3)
      • Rugged communications for harsh environments: สวิตช์ High-Port Density ที่ถูกออกแบบและทดสอบภายใต้สภาพแวดล้อมที่รุนแรงสูงสุด สามารถปกป้องการรบกวนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขั้นสูง ไฟกระชากที่รุนแรง อุณหภูมิและความชื้นแบบสุดขั้ว โดยสวิตช์ RUGGEDCOM ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรมจนเป็นที่ยอมรับและมีประสิทธิภาพเหนือชั้นกว่าสำหรับใช้กับภารกิจที่สำคัญยิ่งยวดขององค์กร โดยผู้ให้บริการโครงข่ายไฟฟ้ายังสามารถออกแบบรูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายต่าง ๆ  หรือ โทโพโลยีเครือข่าย (Network Topologies) ที่ป้องกันความเสียหายผิดพลาด เพื่อเพิ่มระยะเวลาทำงานของเครือข่ายได้อย่างสูงสุด
      • Cybersecurity for critical infrastructure: RUGGEDCOM industrial PC สามารถใช้ซอฟต์แวร์ชั้นนำของอุตสาหกรรมในการตรวจจับและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ Grid Edge ซึ่งเป็นการนำความสามารถด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ขั้นสูงมาสู่สภาพแวดล้อมแบบสาธารณูปโภค

Industrial 5G solutions for energy distribution and transmission: ที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษสำหรับการใช้แอปพลิเคชันในสภาพแวดล้อมที่มีความต้องการสูง เช่น การจำหน่ายและส่งไฟฟ้า เราเตอร์  Industrial 5G จากซีเมนส์มีความหน่วงต่ำและมีแบนด์วิดธ์สูงเป็นพิเศษ และสามารถเชื่อมต่ออย่างปลอดภัยผ่านเครือข่าย 5G สาธารณะที่ล้ำสมัยไปยังสถานีจำหน่ายไฟฟ้าที่อยู่ห่างไกล

ภายในงาน Enlit Asia ซีเมนส์ยังสาธิตวิธีป้องกันระบบที่ใช้ควบคุมเครื่องจักรในอุตสาหกรรมต่าง ๆ (หรือ ICS) ด้วยการร่วมมือกับ Fortinet และ Nozomi Networks รวมถึงการเชื่อมต่อไร้สาย 5G ที่มีแนวทางความปลอดภัยแบบ Zero Trust สำหรับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ

พัฒนาการของสมาร์ทซิตี้ในปี 2565

พัฒนาการของสมาร์ทซิตี้ในปี 2565

พัฒนาการของสมาร์ทซิตี้ในปี 2565

สุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีเมนส์ ประเทศไทย

โดย นางสุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีเมนส์ ประเทศไทย

หลายคนอาจมีจินตนาการว่าเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ (Smart City) น่าจะเหมือนกับในภาพยนตร์แนวไซ-ไฟที่มียานพาหนะลอยฟ้ารับส่งผู้คน หรือมีหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่หมอประจำบ้าน

เราพูดถึงกันมานานเกี่ยวกับเมืองที่มีความเป็น ‘อัจฉริยะ’ แต่คำนิยามของความเป็นอัจฉริยะที่ว่านี้ในปัจจุบันเป็นอย่างไร และเรามีการพัฒนาที่ใกล้เคียงกับวิสัยทัศน์ดังกล่าวมากน้อยเพียงใด เราจะมาสำรวจกันว่าพัฒนาการของ ‘สมาร์ทซิตี้’ ในปี 2565 ก้าวล้ำไปถึงไหนแล้ว

ถึงแม้ว่าวิสัยทัศน์ล่าสุดของสมาร์ทซิตี้ยังคงห่างไกลจากภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์ แต่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), 5G, เทคโนโลยีคลาวด์, บิ๊กดาต้า และ Internet of Things (IoT) ที่ถูกนำมาใช้ในเมืองอย่างต่อเนื่องทำให้พัฒนาการของสมาร์ทซิตี้ได้ก้าวหน้าไปตามความคาดหวังของผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าจะให้ยกตัวอย่างของสมาร์ทซิตี้ในวันนี้ งาน Expo 2020 Dubai* น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในโลกสำหรับสภาพแวดล้อมเมืองที่มีการเชื่อมต่ออย่างทั่วถึงและได้รับการออกแบบเพื่อรองรับวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน

(*ถึงแม้จะถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565 งานนี้ยังคงใช้ชื่อ “เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ”)

ด้วยอาคารกว่า 130 หลังเชื่อมต่อถึงกันในพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของประเทศโมนาโก งาน Expo 2020 Dubai ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อรองรับการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติที่ปลอดภัย ยั่งยืน และบริหารจัดการด้วยระบบดิจิทัลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 170 ปี ของการจัดนิทรรศการระดับโลกนี้

Expo 2020 Dubai มีความเป็นอัจฉริยะมากแค่ไหน

หัวข้อหลักของการจัดงาน Expo 2020 คือ “การเชื่อมโยงความคิดและการสร้างสรรค์อนาคต”  งานนิทรรศการนี้อาศัยการขับเคลื่อนด้วย AI และมีแพลตฟอร์มที่แยกต่างหากสำหรับการจัดการพลังงาน  นอกจากนี้ อาคารอัจฉริยะและระบบรักษาความปลอดภัยถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกันและทำงานอย่างสอดประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้จัดการอาคารสามารถควบคุมฟังก์ชั่นต่าง ๆ ในแบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชั่น เช่น การทำความเย็น คุณภาพของอากาศ การผ่านเข้า-ออกอาคาร และสัญญาณเตือนอัคคีภัย

Expo 2020 เก็บรวบรวมข้อมูลพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งงานกว่า 210,000 จุด รวมไปถึงประตูเข้า-ออก 5,500 จุด และกล้องกว่า 15,000 ตัว เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าชมงาน โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันอย่างราบรื่นและไร้รอยต่อ  นอกจากนั้น ยังมีการประหยัดพลังงาน ปรับสมดุลในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดโดยนำเอาพลังงานหมุนเวียนมาใช้ และใช้พลังงานที่กักเก็บในแบตเตอรี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดรวมถึงการชาร์จไฟให้กับยานยนต์ไฟฟ้า

ความชาญฉลาดของงาน Expo 2020 อยู่บนระบบปฏิบัติการ MindSphere ที่ทำงานบนคลาวด์ของซีเมนส์ (Siemens) โดยข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการใช้งานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลิฟต์โดยสาร ไปจนถึงเครื่องปรับอากาศ โคมไฟส่องสว่างและฮาร์ดแวร์อื่น ๆ ถูกเชื่อมโยงในลักษณะที่สัมพันธ์กันและถูกกลั่นกรองออกมาเป็นข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำมาใช้ปรับสภาพความเป็นอยู่ภายในเมือง โดยมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ถูกออกแบบและรวมไว้ตั้งแต่ระดับรากฐานของ MindSphere

งาน Expo 2020 ตอกย้ำถึงศักยภาพของสมาร์ทซิตี้อย่างรอบด้าน กล่าวคือ ระบบอัจฉริยะจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อมิติต่างๆ ของเมือง เช่น การบริหารจัดการ การคมนาคมขนส่ง บริการสาธารณสุข และการดูแลความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกรวมมูลค่าราว 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯจนถึงปี พ.ศ. 2569

ด้วยเหตุนี้จึงคาดว่าการลงทุนเพื่อปรับปรุงเมืองให้ฉลาดขึ้นจะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจาก 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปี พ.ศ. 2564 เพิ่มเป็น 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2573 โดยจะเป็นการลงทุนทั้งในส่วนของภาคเอกชน เช่น การสร้างอาคารอัจฉริยะ และระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Microgrid) รวมถึงภาครัฐ และทุกคนจะได้รับประโยชน์ เพราะเทคโนโลยีจะช่วยให้เมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วมีความยืดหยุ่นและปลอดภัยมากขึ้น

ต่อยอดจาก Expo 2020 Dubai สู่เมืองที่แท้จริง

หลังจากที่งาน Expo 2020 สิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือนมีนาคม พื้นที่ในบริเวณนี้จะถูกพัฒนาต่อยอดให้เป็นเมืองแห่งอนาคตที่มีชื่อว่า District 2020 ภายใต้โครงการของรัฐบาลดูไบ

ด้วยการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งานและการพัฒนาพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่มีการก่อสร้างแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ให้กลายเป็นชุมชนเมืองเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัย องค์กรธุรกิจ และนักท่องเที่ยว District 2020 จะยังคงเก็บรักษาสินทรัพย์และสิ่งก่อสร้างภายในพื้นที่จัดงาน Expo 2020 ที่เป็นไปตามมาตรฐานอาคารสีเขียวทั้ง LEED และ CEEQUAL โดยจะพัฒนาไปสู่การเป็นชุมชนเมืองอัจฉริยะที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์และรองรับการใช้งานที่หลากหลายและยั่งยืน มีทั้งพื้นที่สำนักงาน พื้นที่สำหรับการทำงานร่วมกัน ชุมชนที่อยู่อาศัย พื้นที่สีเขียวที่ร่มรื่นและเงียบสงบ สถานที่ท่องเที่ยวทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน ศูนย์นิทรรศการ Dubai Exhibition Center และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อธุรกิจและการพักผ่อน โดยคาดว่า District 2020 จะสามารถรองรับได้ประชากรสูงสุดถึง 145,000 คน

District 2020

ซีเมนส์จะมีบทบาทสำคัญในการแปลงโฉมพื้นที่จัดงาน Expo 2020 ให้กลายเป็น District 2020 และจะกลายเป็นผู้เช่าพื้นที่รายใหญ่ โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะย้ายสำนักงานใหญ่ระดับโลกในส่วนของธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ ทางบก และทางเรือ จากเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี มาที่ District 2020 และคาดว่าพนักงานของซีเมนส์ประมาณ 1,000 คนจะทำงานอยู่ในอาคารสองหลังที่ใช้เทคโนโลยีการจัดการอาคารที่ถูกติดตั้งไว้เดิมสำหรับงาน Expo 2020 เช่น เซ็นเซอร์อัจฉริยะ และแพลตฟอร์ม IoT ที่รองรับ ‘ระบบตรวจจับ’ ทั่วทุกจุดภายในอาคาร เพื่อจัดหาข้อมูลแบบเรียลไทม์และข้อมูลวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานะใช้งานของอาคาร รวมไปถึงการให้บริการค้นหาตำแหน่งที่ตั้งสำหรับบุคคลและอุปกรณ์ต่าง ๆ

ถอดบทเรียน Expo 2020 Dubai กับการพัฒนา Smart City ของประเทศไทย

สถานการณ์การแพร่ระบาดก่อให้เกิดปัญหาท้าทายมากมายสำหรับเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งยังทำให้รูปแบบการใช้ชีวิต การทำงาน และการพบปะสังสรรค์ของผู้คนเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน  นอกจากนั้น ภาวะโลกร้อนได้กลายเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนสำหรับเมืองต่าง ๆ เนื่องจากมีข้อมูลว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 60% มาจากพื้นที่เมือง  ความท้าทายที่สำคัญสองประการนี้เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้บริหารเมืองในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกคิดทบทวนเกี่ยวกับอนาคตของเมืองที่ตนเองดูแล ประเทศไทยก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต่างจากกัน

เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานของเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ ไฟฟ้า ประปา และเครือข่ายการสื่อสาร จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุน

แนวทางการสร้างสมาร์ทซิตี้จากงาน Expo 2020 ซึ่งประเทศไทยสามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้:

  • เมืองจะเป็นเมืองก็ต่อเมื่อมีคนอาศัยอยู่ ดังนั้นการออกแบบสมาร์ทซิตี้ที่ประสบความสำเร็จจะต้องมุ่งเน้นที่คนเป็นหลัก (Human-Centered)
  • เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างมาก แต่ในระดับที่แตกต่างกันสำหรับเทคโนโลยีแต่ละอย่างและเมืองแต่ละแห่ง ดังนั้นจึงไม่มีโซลูชันแบบครอบจักรวาลที่ใช้ได้กับทุกเมือง การผสมผสานเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม การติดตั้งใช้งานที่ยืดหยุ่น สามารถปรับแต่งให้เหมาะกับการใช้งานในแต่ละพื้นที่ จะช่วยให้เมืองมีความเป็นอัจฉริยะและรองรับการใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เมืองจะต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามไลฟ์สไตล์ของผู้คน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ดังนั้นจึงต้องมีการใช้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากส่วนต่างๆ ของเมืองซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนห้องแล็บมีชีวิต เพื่อพัฒนาปรับปรุงเมืองให้มีความฉลาดอยู่เสมอ โดยสิ่งสำคัญคือจะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักอย่างต่อเนื่อง โดยโครงสร้างฯ ต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับขนาดเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม
  • การพัฒนาที่ยั่งยืนถือเป็นภารกิจสำคัญสำหรับเมืองต่าง ๆ เพราะในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน เราจำเป็นที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพื้นที่เมือง การปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น AI, IoT, Blockchain, Big Data ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขณะที่เมืองต่าง ๆ เปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง หลังจากที่การเดินทางระหว่างประเทศและกิจกรรมต่าง ๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพราะโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเริ่มกลายเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวพักผ่อน การเดินทางเพื่อทำธุรกิจ หรือจุดหมายปลายทางสำหรับการลงทุน เราสามารถเร่งการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ได้ด้วยการเรียนรู้จากแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม และสร้างโซลูชั่นที่เหมาะกับวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของเรา โดยจุดมุ่งหมายคือการสร้างเมืองแห่งอนาคตที่สะดวกสบาย ปลอดภัย ปรับเปลี่ยนได้อย่างยืดหยุ่น และมีความยั่งยืนสำหรับทั้งคนไทยและผู้มาเยือน

ซีเมนส์ขับเคลื่อน Smart City แห่งอนาคต ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำใน “เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ*”

ซีเมนส์

ซีเมนส์ขับเคลื่อน Smart City แห่งอนาคต ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำใน “เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ*”

* ถึงแม้จะถูกจัดขึ้นในปี 2021 งานนี้ยังคงใช้ชื่อ “เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ”

    • งาน “เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ” ใช้เทคโนโลยีด้านอาคารอัจฉริยะจากซีเมนส์ซึ่งถูกขับเคลื่อนและรวมไว้บนแพลตฟอร์มการบริการ IoT ภาคอุตสาหกรรม MindSphere 
    • อาคารมากกว่า 130 แห่งจะเชื่อมต่อและสื่อสารกันผ่าน Siemens Navigator แพลตฟอร์มบนคลาวด์สำหรับวิเคราะห์การใช้พลังงานเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรอาคาร
    • อาคารต่าง ๆ ในสามโซนหลัก (Thematic Districts) ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยระบบการจัดการอาคารอัจฉริยะ Desigo CC โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลจะช่วยสนับสนุนการจัดงานเอ็กซ์โป 2020 ดูไบ ให้ประสบความสำเร็จ ตามเป้าหมายครอบคลุมในด้านความยั่งยืน ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และการรักษา ความปลอดภัย

เป็นเวลากว่า 170 ปีที่งาน World Expo ถูกจัดขึ้นเพื่อแสดงนวัตกรรมที่เปลี่ยนวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนมาจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับงานเอ็กซ์โป 2020 ดูไบ ที่จะสานต่อความยิ่งใหญ่ด้วยเทคโนโลยีล่าสุดจากทั่วทุกมุมโลก ซีเมนส์ได้มีส่วนร่วมในงาน World Expo ตั้งแต่การจัดแสดงโทรเลขไฟฟ้าแบบเข็ม (Pointer Telegraph) ในงานครั้งแรก ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1851 และในงานเอ็กซ์โป 2020 ดูไบ ครั้งนี้ ซีเมนส์ได้แสดงนวัตกรรมต้นแบบ (Blueprint) สำหรับเมืองอัจฉริยะ โดยการนำเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ในการจัดการงาน World Expo 2020 Dubai

งานเอ็กซ์โป 2020 ดูไบ ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 จะเป็นหนึ่งในงานเอ็กซ์โปที่มีการเชื่อมต่อที่เน้นเรื่องความยั่งยืนหรือนวัตกรรมสีเขียวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และยังเป็นหนึ่งในงานที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีทางอาคารของซีเมนส์ครั้งใหญ่ที่สุดในโลก อาทิ ดิจิทัลโซลูชั่นเพื่อใช้สำหรับเชื่อมต่อ ตรวจสอบ และควบคุมอาคารผ่าน MindSphere ระบบปฏิบัติการบนคลาวด์สำหรับ IoT ซึ่งจะทำให้การวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจและปฏิบัติงานได้อย่างชาญฉลาด โดยเทคโนโลยีอัจฉริยะเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายในการจัดงานเอ็กซ์โป 2020 ดูไบ ทั้งในด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยของผู้ร่วมชมงานและควบคุมดูแลรักษาระบบความปลอดภัย

ซีเมนส์ เป็นพาร์ทเนอร์ระดับพรีเมียร์ของงานเอ็กซ์โป 2020 ดูไบ มีบทบาทสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นดิจิทัลโดยการนำระบบการจัดการอาคารดิจิทัล Desigo CC มาติดตั้งใช้งานทั่วทั้งงาน โดยครอบคลุมในแต่ละโซนการจัดงาน (ได้แก่ โซน Mobility โซน Opportunity และโซน Sustainability) รวมถึงศูนย์การจัดแสดงนวัตกรรมของประเทศต่าง ๆ และ Dubai Exhibition Centre โดยระบบจะใช้เซนเซอร์และการวิเคราะห์หลากหลายเพื่อตรวจสอบและควบคุมฟังก์ชันของอาคาร อาทิเช่น ระบบปรับอากาศ การใช้พลังงาน การควบคุมความสว่าง ลิฟต์ คุณภาพอากาศและระบบส่งสัญญาณเตือนอัคคีภัย

ข้อมูลจากระบบเหล่านี้จะถูกนำมาจัดการและประมวลโดยศูนย์บัญชาการและควบคุมในแต่ละโซนการจัดงาน เพื่อลดการใช้พลังงาน พร้อมอำนวยความสะดวกและดูแลรักษาความปลอดภัยให้ผู้ร่วมงาน ข้อมูลเหล่านี้จะถูกป้อนเข้าสู่ Siemens Navigator แพลตฟอร์มศูนย์กลางการจัดการข้อมูลบนคลาวด์ เพื่อเชื่อมต่อกับอาคารต่าง ๆ มากกว่า 130 แห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวซึ่งถือเป็นหนึ่งในการติดตั้งระบบคลาวด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อให้ผู้ให้บริการต่าง ๆ สามารถเห็นข้อมูลทั้งหมดและนำมาวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบการใช้พลังงานระหว่างการจัดงานเอ็กซ์โปในครั้งนี้ ด้วยความสามารถของแพลตฟอร์ม MindSphere ที่้ขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในงาน ข้อมูลจากเซนเซอร์ เกตเวย์ ระบบและแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งเชื่อมต่อกันจะถูกวิเคราะห์และแสดงผลให้ผู้จัดงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด

ระบบรักษาความปลอดภัยจะถูกรวมไว้ในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของงานเอ็กซ์โปโดยมีระบบย่อยมากกว่า 20 ระบบ อาทิ ระบบการควบคุมการเข้า-ออกอาคาร ระบบการจัดการอาคาร และระบบป้องกันอัคคีภัย ซึ่งจะถูกรวมไว้ในแพลตฟอร์มที่ป้อนคำสั่งและควบคุมจากส่วนกลาง ทำให้ผู้ดูแลทราบถึงสถานการณ์ภาพรวมและทำการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

คุณสุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและซีอีโอ ซีเมนส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “การพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ Thailand 4.0 เทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะที่ใช้ในงาน World Expo 2020 Dubai เป็นตัวอย่างการใช้งานจริงของหลากหลายโซลูชันเมืองอัจฉริยะที่ถูกนำมารวมกันเพื่อสร้างเมืองที่มีความยั่งยืน และให้ความสะดวกสบายกับผู้อยู่อาศัย โดยสามารถนำมาต่อยอดหรือเป็นนวัตกรรมต้นแบบสำหรับการวางแผนงานเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย”

ซีเมนส์มีประสบการณ์ในด้านการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของสถานที่สำคัญให้เป็นดิจิทัลมาอย่างยาวนานทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น ท่าอากาศยานนานชาติดูไบ โรงละครโอเปราดูไบ และมัสยิด Sheikh Zayed ของอาบูดาบี ที่เลือกใช้เทคโนโลยีจากซีเมนส์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน และการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน

“การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ” ช่วยสร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ” ช่วยสร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดย นางสุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและซีอีโอ ซีเมนส์ ประเทศไทย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงวันนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปยังทุกภาคส่วน ภาครัฐและเอกชนต่างมุ่งจัดการปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ล้วนเป็นเรื่องเร่งด่วนในทุก ๆ ด้าน อย่างไรก็ตามเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและสิ่งแวดล้อม” เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วนเช่นกัน จากเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยและมีความรุนแรงมากขึ้น อันเป็นผลจากสภาวะโลกร้อนในหลายประเทศทุกภูมิภาคทั่วโลก

แท้จริงแล้วภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อประเด็นนี้ เนื่องจากกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานมากถึงหนึ่งในสามของการใช้พลังงานทั้งหมดในโลก ซึ่งเทคโนโลยีการจัดการพลังงานไฟฟ้าที่ก้าวหน้าไปมากในปัจจุบันช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยอาศัยการจัดการพลังงานอย่างชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยี
ดังกล่าว

การจัดการพลังงานไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมมีส่วนช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้อย่างไร

เรามาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญซึ่งทุกภาคส่วนเห็นร่วมกันชัดเจนถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในขณะที่ภาคส่วนอื่น ๆ อาทิ การผลิตพลังงานไฟฟ้า การเกษตร และการบริโภคในครัวเรือน ได้เริ่มลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ภาคอุตสาหกรรมนั้นแทบจะไม่มีการปรับเปลี่ยนเลย แม้แต่ในประเทศเยอรมนีที่เป็นผู้นำในโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่เองก็ตาม

เพื่อจัดการปัญหานี้ ซีเมนส์เห็นแนวทางขับเคลื่อนสำคัญ 3 ประการที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

  1. การสร้างความยืดหยุ่นในการนำพลังงานมาใช้ เช่น การใช้โซลูชั่นการกักเก็บพลังงานและการใช้ระบบโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plants : VPP)

  2. การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถทำได้โดยการติดตั้งอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) เซ็นเซอร์ และซอฟต์แวร์ควบคุม

  3. การนำการจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Electrification) มาใช้ ในการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกกระบวนการทำงาน

จากสามแนวทางข้างต้น “การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ” เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งยังสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดจากปัจจัยการขับเคลื่อนที่เหลือ

ในการจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะนั้น มี 2 ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ หนึ่ง – ความเป็นไปได้ที่จะนำพลังงานสะอาด ซึ่งไม่มีการปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมมาป้อนเข้าสู่สถานประกอบการอุตสาหกรรม อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และ สอง – การจัดการพลังงานของสถานประกอบการอุตสาหกรรม เช่น การจัดการความต้องการใช้พลังงานด้วยซอฟต์แวร์ เป็นต้น

เหตุผลที่การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะมีผลอย่างมากต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็คือ เมื่อจัดการการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้สามารถเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้โดยไม่ก่อมลภาวะ แทนที่การผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีแบบเดิม เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานดีเซลที่มีการก่อมลภาวะสูง

การจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพคือ “หัวใจสำคัญ” ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม
กรณีศึกษาจากบริษัท Gestamp ผู้ผลิตชิ้นส่วนโลหะยานยนต์ในสเปนซึ่งมีหลายกระบวนการผลิตที่ต้องใช้พลังงานเป็นจำนวนมากแต่ขาดข้อมูลการใช้พลังงานที่ชัดเจนทำให้โรงงานต้องเผชิญกับค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

แต่ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์มาตรวัดพลังงานและการใช้โซลูชันการสื่อสารรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่จากโรงงาน 15 แห่งใน 6 ประเทศแล้วนำมาวิเคราะห์ Gestamp สามารถระบุ
จุดที่เป็นปัญหาและปรับปรุงการดำเนินงาน ทำให้สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงถึง 15 เปอร์เซ็นต์และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึง 14,000 ตันต่อปี

การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะช่วยให้การผลิตมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ช่วยในบริหารรอบการทำงานให้ได้ประโยชน์สูงสุดและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นอกเหนือจากนั้น
ยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคอุตสาหกรรม พร้อมเพิ่มโอกาสใหม่ ๆ ในการนำพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันการจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงทำได้ง่ายขึ้น ด้วยการปรับกระบวนการจัดการให้เป็นระบบดิจิทัล (Digitalization) และนำการจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Electrification) มาใช้ ผลที่ตามมาไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แต่ยังเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงานและทำให้การใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด

ยิ่งไปกว่านั้น การปรับกระบวนการทำงานเป็นระบบดิจิทัล (Digitalization) ทำให้เราสามารถพัฒนาระบบดิจิทัลทวิน (Digital Twin) สำหรับระบบไฟฟ้าของโรงงานได้
และเมื่อควบรวมกับระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม ผู้วางระบบงานสามารถทดสอบการจำลองสถานการณ์การทำงานต่าง ๆ เพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่สุดในการวางระบบงาน
เพื่อลดความผิดพลาดและลดต้นทุนในการวางแผนงาน การก่อสร้าง และการบำรุงรักษา

วิกฤติการณ์การแพร่ระบาดทำให้เราต้องพิจารณาอีกครั้งเกี่ยวกับวิธีการดำเนินงานทางธุรกิจของเรา สำหรับอุตสาหกรรม ถึงเวลาแล้วที่จะสร้างรากฐานธุรกิจในอนาคตด้วยการผสมผสานการจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะเข้ากับแผนงานของกิจการ ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่ใช่แค่ตัวเลขทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน ครอบคลุม ตั้งแต่ลูกค้า ชุมชน ประเทศ ไปจนถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมในโลกของเราด้วย

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
     ●  Gestamp reference:
     ●  Siemens DEGREE sustainability framework: