อีริคสันจับมือเร้ดแฮท เสริมศักยภาพผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร เพื่อสร้างเครือข่ายมัลติเวนเดอร์

อีริคสันจับมือเร้ดแฮท เสริมศักยภาพผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร เพื่อสร้างเครือข่ายมัลติเวนเดอร์

อีริคสันจับมือเร้ดแฮท เสริมศักยภาพผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร เพื่อสร้างเครือข่ายมัลติเวนเดอร์

บทความโดย: มานส์ เบอร์แมน หัวหน้าฝ่ายความร่วมมือและพันธมิตร กลุ่มซอฟต์แวร์และบริการคลาวด์ภาคธุรกิจของอีริคสัน และ แมกนัส แกล ผู้อำนวยการฝ่ายลูกค้าทั่วโลกของเร้ดแฮท

ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารมีศักยภาพที่จะรองรับประสบการณ์เสมือนจริงแบบเฉพาะบุคคล รวมถึงแอปพลิเคชันและโซลูชันรุ่นใหม่ที่มีเสถียรภาพสูง ด้วยเหตุนี้ อีริคสันและเร้ดแฮทจึงขยายความร่วมมือด้านการตรวจสอบรับรองฟังก์ชันเครือข่ายและแพลตฟอร์ม เพื่อช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถนำเสนอบริการใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดได้รวดเร็วขึ้นภายใต้แนวทางที่มีผู้ให้บริการหลายราย (Multi-Vendor: มัลติเวนเดอร์)

แผนปฏิบัติการที่แตกต่างเพื่อรองรับมัลติเวนเดอร์

ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารใช้ 5G เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้การทำธุรกิจมีความคล่องตัว และได้ใช้วิธีการทำงานแบบใหม่ ๆ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเร็วขึ้น ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารต้องหาสมดุลระหว่างค่าใช้จ่าย ความเสี่ยง และระยะเวลาในการนำผลิตภัณฑ์/บริการออกสู่ตลาด ให้ได้อย่างเหมาะสม 

อีริคสันและเร้ดแฮทตระหนักว่าแนวทางแบบมัลติเวนเดอร์ต้องใช้แผนปฏิบัติการที่แตกต่างกัน เมื่อเทียบกับการเลือกใช้แนวทางแบบผู้ให้บริการรายเดียว (Single-Vendor: ซิงเกิลเวนเดอร์) ซึ่งใช้โซลูชันและการจัดการวงจรการใช้งานที่มีการบูรณาการในแบบแนวตั้ง การสร้างเครือข่ายแบบมัลติเวนเดอร์ต้องอาศัยความสามารถในการใช้งานร่วมกันที่แน่นอน จึงจะได้รับประโยชน์สูงสุดในด้านของความยืดหยุ่นและทางเลือกที่หลากหลาย นอกเหนือจากการทำงานร่วมกันของอีริคสันและเร้ดแฮทแล้ว เรายังมีความร่วมมือภายในระบบนิเวศที่กว้างขวาง ซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อนในการผสานรวมเทคโนโลยีและซัพพลายเออร์ที่แตกต่างกัน

อีริคสันและเร้ดแฮทต้องการที่จะช่วยให้ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารมีอิสระที่จะโฟกัสเรื่องการสร้างความแตกต่างให้กับบริการ 5G ที่นำเสนอ รวมถึงการเพิ่มคุณประโยชน์ให้แก่ลูกค้า เราทำงานร่วมกันมาเป็นเวลาหลายเดือนเพื่อกำหนดรูปแบบการดำเนินงานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับรูปแบบมัลติเวนเดอร์ เพื่อเป็นแนวทางแก่ลูกค้าในเพื่อการปรับใช้และปรับแต่งการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีของอีริคสันและเร้ดแฮท ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและทรัพยากรได้อย่างมาก

การทำงานของฟังก์ชันด้านเครือข่ายต่าง ๆ ของอีริคสัน บนแพลตฟอร์มของเร้ดแฮท

ความร่วมมือของอีริคสันและเร้ดแฮทช่วยให้ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารมีความมั่นใจในการปรับเปลี่ยนเครือข่ายอย่างรวดเร็ว และลดความเสี่ยงในการดำเนินกลยุทธ์แบบมัลติเวนเดอร์ แพลตฟอร์มโอเพ่นไฮบริดคลาวด์ของเร้ดแฮทได้รับการทดสอบกับการรันฟังก์ชันเครือข่ายของอีริคสัน ซึ่งประกอบเข้าด้วยกันเป็นคอนฟิกูเรชั่นสำหรับการอ้างอิงที่จะช่วยลดความยุ่งยากซับซ้อนในการปรับใช้เครือข่ายแบบกระจาย เราลงทุนอย่างจริงจังในด้านงานวิศวกรรมที่สำคัญ เพื่อให้เทคโนโลยีที่ประกอบรวมเข้าด้วยกันนี้พร้อมใช้งานเชิงพาณิชย์ในสภาพแวดล้อมเครือข่ายของผู้ให้บริการที่มีความต้องการสูง

ปัจจุบัน อีริคสันและเร้ดแฮทมีโซลูชันที่ผ่านการตรวจสอบรับรอง ซึ่งพร้อมให้ติดตั้งใช้งานได้ทันที โดยจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร ด้วยโอเพ่นแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมเครือข่ายสำหรับ vEPC, 5G Core, IMS, OSS และ BSS  นอกจากนี้ ทีมงานของเราได้บูรณาการโซลูชันฟังก์ชันเครือข่ายของอีริคสันเข้ากับ Red Hat OpenShift และ Red Hat OpenStack Platform โดยเราได้ทดสอบ การใช้งานจริงร่วมกับผู้ให้บริการหลายรายทั่วโลก และดำเนินการปรับใช้ระบบ 5G Core เชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก

อีริคสันและเร้ดแฮทเข้าร่วมในโครงการความร่วมมือทางเทคนิคหลายโครงการ ทั้งที่อยู่ในระดับขั้นของการพัฒนาและที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว เช่น การทำงานร่วมกันสำหรับ Cloud RAN ซึ่งเร้ดแฮทได้เข้าร่วม Open Lab ของอีริคสัน เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมอินเทอร์แอคทีฟร่วมกับลูกค้าที่ใช้ Cloud RAN ของอีริคสัน และระบบนิเวศด้านพันธมิตรทั่วโลก ความเชื่อมโยงที่สำคัญของโครงการความร่วมมือทาง  เทคนิคทั้งหมดนี้ก็คือทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์จากวิธีการที่ได้ผล และใช้ร่วมกันได้

การกำหนดกระบวนการสำหรับความร่วมมือทางเทคนิค

โครงการความร่วมมือทางเทคนิคของเราเริ่มต้นด้วยการจัดการกับข้อกำหนดของฟังก์ชันเครือข่ายของอีริคสันเพื่อทำงานร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานของเร้ดแฮท ควบคู่กับการจัดทำพิมพ์เขียวของระบบเครือข่ายเครือข่าย และข้อกำหนดด้านการประมวลผล ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยให้แน่ใจว่าแพลตฟอร์มจะสามารถรองรับและโฮสต์ฟังก์ชันด้านเครือข่ายได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งกำหนดคอนฟิกูเรชั่นอ้างอิงให้กับเป้าหมายเบื้องต้น

หลังจากนั้นเป็นการดำเนินกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวดและทั่วถึง โดยมีการปรับใช้คอนฟิกูเรชั่น อ้างอิงตามเป้าหมายภายในสภาพแวดล้อมของห้องปฏิบัติการทางวิศวกรรม และเป็นไปตามกรณีการทดสอบหลาย ๆ กรณี (เช่น การเริ่มต้นใช้งาน การรักษาความปลอดภัย ความแข็งแกร่ง ความยืดหยุ่น การทำงานแบบอัตโนมัติ เป็นต้น)  ในระหว่างการทดสอบ วิศวกรได้ทำการปรับเปลี่ยนคอนฟิกูเรชั่นอ้างอิงตามความจำเป็น เพื่อให้ได้คอนฟิกูเรชั่นอ้างอิงที่ผ่านการตรวจสอบรับรองในขั้นตอนสุดท้าย  ผู้ให้บริการที่ใช้คอนฟิกูเรชั่นอ้างอิงจะได้รับความสะดวกและประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในการติดตั้งการเริ่มต้นใช้งาน และการโฮสต์ฟังก์ชันเครือข่าย และยังสามารถปรับเพิ่มขนาดได้อย่างมั่นใจ

เบสไลน์สำหรับซอฟต์แวร์ คู่มือการปรับใช้ และพิมพ์เขียวสำหรับคอนฟิกูเรชั่นอ้างอิงที่ผ่านการตรวจสอบของฟังก์ชันเครือข่ายและแพลตฟอร์ม ได้รับการจัดทำเป็นเอกสารอย่างครบถ้วน รวมถึงผลการทดสอบในแต่ละกรณีข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้ผู้ให้บริการ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รวมระบบหลัก สามารถเร่งการติดตั้ง ลดความเสี่ยง และลดปริมาณงานสำหรับการบูรณาการระบบ

5G Core และ Cloud RAN

โปรเจกต์คลาวด์เนทีฟด้าน dual-mode 5G Core ของอีริคสัน และ Cloud RAN ของอีริคสัน ที่รันบน Red Hat OpenShift Container Platform ได้รับความสนใจจากตลาดเป็นอย่างมาก ส่วนโครงการความร่วมมือด้าน Cloud RAN ที่โฮสต์อยู่บน OpenShift อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ โดยหัวใจหลักอยู่ที่ทีมวิศวกรรมร่วมของเรา ซึ่งจัดเตรียม OpenShift ให้พร้อมสำหรับการรองรับข้อกำหนดแบบคลาวด์ เนทีฟของ Cloud RAN ของอีริคสัน ส่วน dual-mode 5G Core ของอีริคสันที่โฮสต์อยู่บน OpenShift กำลังถูกใช้งานเชิงพาณิชย์ในระยะแรก โดยทำหน้าที่รับส่งข้อมูลไลฟ์แทรฟฟิก และตั้งเป้าว่าจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างกว้างขวางในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2565 แม้ว่าขอบเขตและความท้าทาย ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับ 5G Core และสำหรับ Cloud RAN จะแตกต่างกัน แต่การทำงานร่วมกันของอีริคสันและ เร้ดแฮทยังคงใช้ระเบียบวิธีและความร่วมมือทางวิศวกรรมแบบเดียวกัน

Dual-mode 5G Core, Cloud RAN และฟังก์ชันเครือข่ายคลาวด์เนทีฟ (Cloud-native Network Function – CNF) อื่น ๆ ทั้งหมดของอีริคสัน ถูกสร้างขึ้นบนหลักการคลาวด์ เนทีฟ และสอดคล้องกับข้อกำหนดของ Cloud Native Computing Foundation (CNCF) เช่นเดียวกับ Red Hat OpenShift

Dual-mode 5G Core ของอีริคสัน ถูกสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบคลาวด์เนทีฟที่ใช้ไมโครเซอร์วิส และผสานรวมฟังก์ชันเครือข่าย Evolved Packet Core (EPC) และ 5G Core (5GC) ไว้บนแพลตฟอร์มร่วมแบบคลาวด์เนทีฟที่เข้าถึงได้หลายทาง ซึ่งรองรับ 5G และ Mobile Packet Core รุ่นก่อนหน้า นับป็น วิวัฒนาการของกลุ่มผลิตภัณฑ์แบบเวอร์ชวลไลซ์ที่แข็งแกร่งของอีริคสัน ซึ่งออกแบบมาสำหรับการใช้งานบนคลาวด์ ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ Cloud Packet Core, Cloud Unified Data Management (UDM) และ Policy and Signaling Controller

Ericsson Cloud RAN เป็นซอฟต์แวร์โซลูชันแบบคลาวด์เนทีฟที่มีฟังก์ชัน RAN แบบแยกส่วน Cloud RAN เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ให้บริการในการเพิ่มความยืดหยุ่น เพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการและเพิ่มขีดความสามารถในการปรับขนาดการทำงานของเครือข่ายต่าง ๆ

สรุปความร่วมมือ

    • ความร่วมมือระหว่างอีริคสันและเร้ดแฮทอยู่บนพื้นฐานของชุดโครงการความร่วมมือทางเทคนิคต่าง ๆ
    • ลูกค้าจะได้รับประโยชน์จากการผสานรวมเทคโนโลยีของอีริคสันและเร้ดแฮทที่ผ่านการคัดสรรอย่างเหมาะสม โดยมีการทดสอบ ปรับแต่ง และจัดทำเอกสารอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก่อนติดตั้ง
      ใช้งานในเครือข่ายของผู้ให้บริการ
    • สำหรับผู้ให้บริการที่ยึดถือตามคอนฟิกูเรชั่นอ้างอิงที่ผ่านการทดสอบอย่างเคร่งครัด จะช่วยลดภาระงานในการบูรณาการระบบ ลดความเสี่ยงของโครงการ และเพิ่มความรวดเร็วในการนำเสนอบริการใหม่ออกสู่ตลาด
    • อีริคสันและเร้ดแฮทรับผิดชอบการเสนอขายในส่วนของตนเอง

การผสานรวมจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเข้าด้วยกัน เราจะร่วมกันทำงานอย่างต่อเนื่องในฐานะพันธมิตรที่เชื่อถือได้สำหรับผู้ให้บริการที่ต้องการสร้างเครือข่ายมัลติเวนเดอร์ที่ยืดหยุ่นและเปิดกว้าง  ไม่มีบริษัทอื่นใดที่มีความร่วมมือแบบเดียวกันนี้ และเราพร้อมที่จะนำเสนอสถาปัตยกรรมเครือข่ายที่ปรับขนาดได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งมอบทางเลือกที่หลากหลายและความคล่องตัวแก่ผู้ให้บริการ เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ทุกรูปแบบของผู้ให้บริการ

เกาะติดวิถีคนหาบ้านกลุ่มมิลเลนเนียล พร้อมมีบ้านแค่ไหนในยุคเงินเฟ้อ

เกาะติดวิถีคนหาบ้านกลุ่มมิลเลนเนียล พร้อมมีบ้านแค่ไหนในยุคเงินเฟ้อ

เกาะติดวิถีคนหาบ้านกลุ่มมิลเลนเนียล พร้อมมีบ้านแค่ไหนในยุคเงินเฟ้อ

ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennials) หรือ Gen Y (ผู้ที่เกิดช่วงปี พ.ศ. 2527–2539) เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยข้อมูลจาก MSCI เผยว่าปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรกลุ่มนี้กว่า 1.8 พันล้านคน คิดเป็น 23% ของประชากรทั่วโลก โดยในทวีปเอเชียมีประมาณ 1.1 พันล้านคน หรือคิดเป็น 24% ของประชากรในภูมิภาค ขณะที่ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ณ เดือนพฤษภาคม 2565 รายงานว่ามีประชากรไทยในช่วงวัยดังกล่าวกว่า 12 ล้านคนจากประชากรในประเทศกว่า 64 ล้านคน (แยกตามจำนวนประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและมีสัญชาติไทย) ซึ่งน่าจับตามองในด้านบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ทั้งจากการเป็นวัยทำงาน มีความต้องการและมีกำลังซื้อสูง รวมทั้งเป็นช่วงวัยที่เริ่มเป็นเจ้าของทรัพย์สินมูลค่าสูงอย่างเช่น รถยนต์ คอนโดมิเนียม หรือบ้าน 

ข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เผยว่า ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลถือเป็นกลุ่มที่มีหนี้สะสมและหนี้เสียสูงที่สุด โดยมียอดหนี้รวมทั้งประเทศจากกลุ่มนี้ถึง 4.5 ล้านล้านบาท และมีอัตราการเป็นหนี้เสียสะสม 3 แสนล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะมีกำลังซื้อสูง แต่ภาระหนี้สินก็สูงตามไปด้วย ท่ามกลางความท้าทายทางการเงินจากปัจจัยแวดล้อมที่รุมเร้าในขณะนี้ ส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลต้องปรับแผนการเงินในยุคเงินเฟ้อให้รัดกุมมากขึ้น ซึ่งรวมถึงวางแผนการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอย่างรอบคอบ แม้ตอนนี้จะถือเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการซื้อบ้าน/คอนโดฯ เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการสนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัยจากภาครัฐ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งราคาวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ยังเป็นปัจจัยสำคัญหลัก ๆ ที่กลุ่มมิลเลนเนียลต้องพิจารณา

เจาะไลฟ์สไตล์กลุ่มมิลเลนเนียล บ้านแบบไหนตอบโจทย์ให้พร้อมเปย์

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย อัปเดตเทรนด์ความต้องการที่อยู่อาศัยผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลในยุคนี้ เผยข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและแนวคิดแผนการเงินที่เปลี่ยนไป เมื่อเผชิญภาวะเศรษฐกิจเปราะบางและเงินเฟ้อยังพุ่งสูง ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลยังพร้อมมีบ้านเป็นของตนเองมากแค่ไหน

    • โฟกัสเงินสำรองฉุกเฉิน หวังสร้างความมั่นคงทางการเงิน สถานะทางการเงินของผู้บริโภคยังคงสั่นคลอนอย่างต่อเนื่อง นอกจากโควิด-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวในอนาคตอันใกล้ เมื่อผนวกกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทำให้ราคาสินค้าและพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น พร้อมกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่อง จึงกลายเป็นความท้าทายที่ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องเตรียมแผนการเงินให้พร้อมรับมือทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะในกลุ่มมิลเลนเนียลซึ่งอยู่ในช่วงวัยที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ทำให้การวางแผนใช้จ่ายในช่วง 1 ปีข้างหน้าของกลุ่มมิลเลนเนียลส่วนใหญ่ให้ความสำคัญไปที่การสร้างความมั่นคงทางการเงินมากที่สุด โดยมากกว่าครึ่ง (57%) ต้องการเก็บเงินไว้เป็นกองทุนเงินสำรองฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต ตามมาด้วยนำไปใช้จ่ายภายในครอบครัว (47%) และออมเงินเพื่อนำไปชำระหนี้ที่ค้างอยู่ (45%) ด้านการออมเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยนั้นได้รับความสนใจมาเป็นอันดับสี่ (39%) สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มมิลเลนเนียลยังต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย เพียงจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายและรอให้มีความพร้อมทางการเงินมากพอเสียก่อน 
    • “ห่วงพ่อแม่–ขาดสภาพคล่อง-ครองความโสด” เหตุผลหลักที่ไม่ย้ายออก เมื่อพูดถึงความพร้อมในการย้ายออกไปซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองนั้น พบว่าภายในหนึ่งปีข้างหน้ามากกว่าครึ่งของผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลยังไม่พร้อมย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ (54%) เช่นเดียวกับข้อมูลจากแบบสอบถามฯ รอบก่อน โดยมีเหตุผลสำคัญคือต้องการดูแลพ่อแม่อย่างใกล้ชิด (36%) สะท้อนให้เห็นว่าแม้คนรุ่นใหม่จะมีแนวคิดสมัยใหม่ตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไป แต่การปลูกฝังความกตัญญูในสังคมไทยยังคงอยู่ นอกจากนี้เป็นประเด็นมีเงินเก็บไม่มากพอที่จะเช่าหรือซื้อที่อยู่อาศัยที่ต้องการได้ (34%) เนื่องจากความท้าทายทางเศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อการเงินโดยตรง ตามมาด้วยยังไม่ได้แต่งงาน (30%) จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ ซึ่งเทรนด์การครองตัวเป็นโสดนี้กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น เห็นได้จากข้อมูลสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองเผยว่า ในปี 2564 มีสถิติการจดทะเบียนสมรสทั่วประเทศเพียง 240,979 คู่ ลดลงจากปี 2563 ที่มีการจดทะเบียนสมรสถึง 271,352 คู่ และ 328,875 คู่ในปี 2562
    • หวังภาครัฐลดหย่อนภาษี กระตุ้นคนซื้อบ้าน มาตรการจากภาครัฐ 3 อันดับแรกที่กลุ่มมิลเลนเนียลต้องการคือ มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้าน ตามมาด้วยการปรับระเบียบข้อบังคับภาครัฐที่ช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อบ้านได้ง่ายขึ้น และมาตรการควบคุมราคาที่อยู่อาศัยที่บังคับใช้โดยภาครัฐ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ไม่เพียงจะช่วยส่งเสริมให้กลุ่มมิลเลนเนียลที่อยากมีบ้าน/คอนโดฯ ได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยสมใจแล้ว ยังกระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดอสังหาฯ ไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง นอกจากนี้ เมื่อเจาะลึกถึงรูปแบบอสังหาฯ ที่กลุ่มมิลเลนเนียลต้องการซื้อนั้นมีความคล้ายคลึงกับผู้บริโภคช่วงวัยอื่น โดยบ้านเดี่ยวได้รับความนิยมมากที่สุด ตามมาด้วยคอนโดฯ ส่วนอันดับ 3 เป็นที่ดิน ต่างจากช่วงวัยอื่นที่สนใจซื้อทาวน์เฮ้าส์ สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มมิลเลนเนียลได้ศึกษาข้อมูลการลงทุนอสังหาฯ มากขึ้น เนื่องจากที่ดินเปล่านั้นมีจุดเด่นตรงที่ความเสี่ยงต่ำและมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในยุคเงินเฟ้อ
    • ร่วมลดมลพิษด้วยรถยนต์ไฟฟ้า มาตรการสนับสนุนให้มีการใช้และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น นอกจากจะช่วยลดมลพิษในอากาศแล้วยังช่วยประหยัดค่าน้ำมันในช่วงที่ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นได้เป็นอย่างดี ดังนั้น นอกจากที่อยู่อาศัยในฝันจะมาพร้อมฟังก์ชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว กลุ่มมิลเลนเนียลยังคำนึงถึงความพร้อมหากต้องการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตอีกด้วย โดยมากกว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มมิลเลนเนียลเผยว่า ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อบ้าน/คอนโดฯ ที่มีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นในกลุ่มที่มีรายได้สูง นอกจากนี้ ความช่วยเหลือในการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าที่คาดหวังจากภาครัฐและผู้พัฒนาอสังหาฯ คือ การเข้าถึงจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมทั้งโครงการที่อยู่อาศัยและห้างสรรพสินค้าใหม่ทั้งหมด รวมไปถึงเพิ่มความพร้อมในการให้บริการจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในที่จอดรถสาธารณะและที่จอดรถส่วนตัว ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางด้วยรถยนต์ไฟฟ้าราบรื่นและสะดวกยิ่งขึ้น ลดอุปสรรคเมื่อต้องการชาร์จไฟระหว่างเดินทาง

แม้ความท้าทายทางเศรษฐกิจปัจจุบันจะกระทบเสถียรภาพทางการเงิน และทำให้แผนการซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มมิลเลนเนียลต้องสะดุดลงไปบ้าง แต่เชื่อว่าความพร้อมในการปรับตัวและจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายจะช่วยให้เข้าใกล้การเป็นเจ้าของบ้าน/คอนโดฯ ในฝันได้ง่ายขึ้น เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ ของไทย อย่างดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (www.ddproperty.comได้รวบรวมข้อมูลข่าวสารและคลังความรู้ในแวดวงอสังหาฯ ช่วยเตรียมความพร้อมให้ทุกคนเป็นเจ้าของบ้านได้อย่างมั่นใจ พร้อมเชิญชวนผู้บริโภคมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตอบแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย เพื่อสะท้อนความต้องการที่อยู่อาศัยและมุมมองคนหาบ้านชาวไทยยุคใหม่ พร้อมลุ้นรับรางวัลสุดพิเศษได้ตั้งแต่วันนี้-10 กรกฎาคม 2565 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง DDproperty Facebook Fanpage 

แก้ไขปัญหาการจราจรในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะด้านข้อมูลและระบุตำแหน่ง (Location Intelligence)

แก้ไขปัญหาการจราจรในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะด้านข้อมูลและระบุตำแหน่ง (Location Intelligence)

แก้ไขปัญหาการจราจรในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะด้านข้อมูลและระบุตำแหน่ง (Location Intelligence)

โดย อาบิจิต เซนกุปตา ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายธุรกิจ ประจำประเทศอินเดีย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ HERE Technologies

เมืองต่าง ๆ ในปัจจุบันต่างกำลังเผชิญกับแรงกดดันที่ถาโถมเพิ่มขึ้นเพื่อปรับปรุงระบบจราจรให้ลื่นไหลและเข้าถึงได้ง่าย ขณะที่ต้องลดมลภาวะที่เกิดขึ้น และเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนไปพร้อมกัน เทคโนโลยีถนนอัจฉริยะ (Smart road technologies) มีความสามารถทำให้ถนนหนทางต่าง ๆ มีความอัจริยะและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และยังช่วยให้ผู้วางผังเมืองและภาครัฐมีส่วนสนับสนุนการใช้ชีวิตในเมืองได้อย่างยั่งยืน

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่ในอันดับ 9 ของโลก โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบการสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับการขับรถด้วยความเร็วเพิ่มขึ้น 4% ขณะที่อุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับช่วงวันหยุดต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นเรื่องเร่งด่วนและอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนให้เหลือไม่เกิน 12 ต่อประชากรแสนคนภายในปี พ.ศ.2570 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “Vision Zero” ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งแผนดังกล่าวจะช่วยลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และสร้างความมั่นใจให้ทุกคนสามารถใช้ถนนได้อย่างปลอดภัย มีสุขภาวะที่ดี และเดินทางได้อย่างเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตาม การไม่มีแผนดำเนินงานที่ชัดเจนและขาดเครื่องมือติดตามผลลัพธ์การทำงาน จะส่งผลเสียมาถึงกระบวนการติดตั้งและการวิเคราะห์หาโซลูชันที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งในแง่การบริหารจัดการการจราจรให้ดียิ่งขึ้น และการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการสัญจรบนถนนที่คับคั่งได้ดียิ่งขึ้น

เอาชนะปัญหาจราจรด้วยความเข้าใจรูปแบบการสัญจร

กว่า 10 ปีมาแล้ว แบบจำลองการจราจรเผยให้เห็นถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสภาพบนท้องถนนที่ต้องปรับปรุง โดยรวบรวมข้อมูลมามาจากระบบเซนเซอร์และกล้องตรวจจับบนท้องถนนเพื่อมอนิเตอร์ความเร็วและจำนวนยานพาหนะ อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายแพงและยังมีข้อจำกัดในการเก็บข้อมูล เช่น  ตัวกล้องที่เกิดการชำรุดเสียหายง่ายและเสี่ยงต่อการถูกก่อกวน หรือ กล้องสามารถบันทึกข้อมูลได้ในระยะเวลาไม่นานพอ ขณะที่ “ความคับคั่งของการจราจร” จะยังไม่สามารถถูกบันทึกไว้ในกล้อง เป็นต้น 

ปัจจุบัน การใช้ข้อมูลการจราจรแบบเรียลไทม์และโซลูชันวิเคราะห์ขั้นสูงช่วยทรานฟอร์มเครื่องมือการทำงานของนักวางแผนการขนส่ง, หน่วยงานของภาครัฐ, และผู้กำหนดนโยบายไปสู่ดิจิทัล ด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่หลายล้านเครื่องที่ถูกใช้ภายในยานพาหนะ รวมถึงเซนเซอร์ นับว่าเรามีข้อมูล ‘Big Data’ จำนวนมหาศาลมากพอที่จะนำมาใช้วิเคราะห์ปัญหาการจราจรได้อย่างเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น

การวิเคราะห์ข้อมูลการจราจรจะช่วยไขข้อสงสัยต่าง ๆ ได้ เช่น  เราจะบรรเทาความแออัดบนท้องถนนในชั่วโมงเร่งด่วนได้อย่างไร? หรือ โซนการก่อสร้างมีผลต่อการจราจรมากน้อยแค่ไหน? ความเร็วที่สามารถขับผ่านวงเวียนควรมีเท่าไร? หรือ อยากทราบว่ามีที่จอดรถว่างบริเวณใดบ้าง? ฯลฯ และเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดบนท้องถนน ข้อมูลระบุตำแหน่งการจราจรกว่าล้านล้านจุดจะถูกจัดเก็บและนำไปใช้งานในแต่ละวันบน Location Technology Platform ของ HERE Technologies ซึ่งช่วยให้ภาคธุรกิจ ภาครัฐ หรือแม้แต่ผู้ขับขี่บนท้องถนนเข้าถึงสถานการณ์การจราจรภายในเมือง และนำไปใช้วางแผนการเดินทางตามวัตถุประสงค์การเดินทางต่าง ๆ  

ระบบประมวลผลการจราจรของ HERE จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทที่เกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนด้วยซอฟต์แวร์การติดตามและจำลองผลลัพธ์ ช่วยให้บริษัทประกันภัย ผู้จัดการด้านการขนส่ง และผู้บริโภค ใช้สิทธิประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันภัยที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น เช่น อ้างอิงจากการบันทึกข้อมูลและพฤติกรรมการขับขี่ ฯลฯ นอกจากนี้ ระบบ HERE Traffic API ยังจะช่วยคลี่คลายความตึงเครียดบนท้องถนนในแต่ละวัน ด้วยการให้ข้อมูลเชิงลึก ได้แก่ อุบัติเหตุบนท้องถนนแบบเรียลไทม์, ระดับความคล่องตัวของการจราจรภายหลังจากเกิดเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุจราจรที่สำคัญ ๆ

ทำให้ปัญหาการจราจรกลายเป็นอดีต

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2593 70% ของจำนวนประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง  ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาความแออัด แต่นั่นเป็นเพียงส่วนยอดปัญหาบนภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ในกรณีเลวร้ายที่สุดคือชาวเมืองในกรุงเทพฯ และกรุงจาการ์ตาอพยพหนีจากเมืองเพื่อเลี่ยงความแออัดและปัญหามลพิษ

หลาย ๆ เมืองได้ดำเนินการเพื่อลดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการจราจรไปบ้างแล้ว อาทิ ประเทศสิงค์โปร์ที่จัดทำเครือข่ายทางด่วนและอุโมงค์ถนนที่มีระยะทางยาว 160 กิโลเมตร พร้อมติดตั้งแกดเจ็ตเซ็นเซอร์ และกล้องเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลการจราจร เวลาการเดินทาง และความต้องการใช้ถนนเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้สัญจรใช้วางแผนเดินทาง พร้อมยังได้กำหนดไว้ในแผนแม่บทของชาติ Smart Mobility 2030 master plan ที่ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะมาเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถของเครือข่ายบนท้องถนนอย่างสูงสุด ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการตรวจสอบและควบคุมปริมาณการจราจร ช่วยทำให้ถนนปลอดภัยยิ่งขึ้น

หายใจได้เต็มปอด ห่างจากปัญหาจราจร

นอกจากการจราจรที่หนาแน่นและอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว ปัญหามลพิษทางอากาศยังเป็นอีกหนึ่งผลกระทบสำคัญที่เกิดขึ้นจากการจราจร เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในอากาศของประเทศไทยสูงกว่าค่าคุณภาพมาตรฐานที่องค์กรอนามัยโลกกำหนดถึง 4  เท่า หมายความว่าคนไทยกำลังสูดดมอากาศที่ไม่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้เมื่อปีก่อนยังมีข้อมูลบ่งชี้ที่สอดคล้องกัน คาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิต 29,000 รายในประเทศไทย มีสาเหตุมาจากคุณภาพอากาศ 

จำนวนยานพาหนะส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดและความต้องการหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะที่เกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งกลายเป็นวิถีการเดินทางปกติไปแล้ว พวกเรารู้สึกสบายใจเมื่อได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ผู้วางผังเมืองสามารถรับรู้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญ ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมการจราจร จุดที่เกิดปัญหาความคับคั่งได้อย่างเจาะจง และวิธีการแก้ไขได้ด้วยข้อมูลแบบเรียลไทม์ ข้อมูลการคาดการณ์ และข้อมูลการจราจรในอดีต

และเป็นเรื่องน่ายินดี ที่วันนี้เรากำลังก้าวไปสู่การพัฒนาและนำรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (หรือ EV) มาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดมลพิษได้อย่างชัดเจนด้วยเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงที่ไม่ใช่ฟอสซิล เมื่อรวมเข้ากับการสมัครใช้แอปพลิเคชันแผนที่ระบุตำแหน่งในรถยนต์ จะสามารถช่วยให้ผู้ใช้เลือกขับรถในเวลาที่จำนวนรถยนต์โดยรวมบนท้องถนนไม่มากได้ เพื่ออากาศที่สะอาดขึ้น ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ต่ำลง รวมถึงเมืองที่มีความยั่งยืนมากขึ้น

การคุ้มครองข้อมูลของผู้บริโภคในระบบขนส่ง

ผลการศึกษาจากผู้ใช้งาน HERE Technologies ทั่วโลก ระบุว่า ผู้บริโภค 80% ไม่ไว้วางใจว่าบริการต่างๆ ที่รวบรวมข้อมูลตำแหน่งของตนจะจัดการกับข้อมูลดังกล่าวได้ตามที่ควร ขณะผู้บริโภคที่ตอบแบบสอบถามในจำนวนใกล้เคียงกันระบุว่า พวกเขารู้สึกเครียด ประหม่า ที่ต้องแชร์ข้อมูล Location ให้กับผู้อื่น เป็นที่ชัดเจนว่าองค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องจัดการข้อมูลตำแหน่งอย่างระมัดระวัง และต้องสอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของแต่ละประเทศที่บริษัทเข้าไปเปิดดำเนินกิจการ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทย (PDPA)

บริษัทจำเป็นต้องรู้ว่าเมื่อใดควรจะขอความยินยอมจากผู้ใช้เพื่อนำข้อมูลของพวกเขาไปใช้ และต้องมีความโปร่งใสในการรักษาความเป็นส่วนบุคคลหรือวิธีการที่ไม่เปิดเผยข้อมูล ซึ่งทั้งสองประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่บริษัทต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ การเลือกประเด็นด้านความปลอดภัยของข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่งอาจไม่ได้เหมาะสมกับทุก ๆ สถานการณ์เสมอไป

สิ่งนี้เป็นปัญหาสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ที่รวบรวมข้อมูลเพื่อให้บริการที่หลากหลาย ตั้งแต่ข้อมูลการจราจรไปจนถึงพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลที่สามในการสร้างบริการใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม การทำให้แน่ใจว่าประสบการณ์ที่ผู้บริโภคจะได้รับนั้นจะต้องสอดคล้องและถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่รักษาความพึงพอใจของผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กันนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทาย

อนาคตจะเป็นอย่างไร?

เมืองที่มีระบบบริหารจัดการความแออัดและเมืองใดก็ตามที่กำลังวางแผนที่จะเปิดใช้งานระบบจัดการดังกล่าว จะต้องใช้ข้อมูล  Location Intelligence เพื่อให้แน่ใจว่าแผนงานจะประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบ เทคโนโลยีการระบุตำแหน่ง (Location Technology) สามารถช่วยเมืองต่าง ๆ ระบุตำแหน่งที่แน่นอนซึ่งช่วยจัดการความแออัดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ Location-Based Data ยังสามารถใช้เพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย การตรวจสอบการจราจร ทำความเข้าใจความต้องการโครงสร้างพื้นฐานของเมือง รวมถึงระบบการบำรุงรักษา และการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจถึงประสิทธิภาพของโซนที่มีความคับคั่งได้ดีมากยิ่งขึ้น

อาลีบาบาครองตำแหน่งที่สามในตลาดพับลิคคลาวด์ด้าน IaaS เป็นปีที่สี่ติดต่อกัน

อาลีบาบาครองตำแหน่งที่สามในตลาดพับลิคคลาวด์ด้าน IaaS เป็นปีที่สี่ติดต่อกัน

อาลีบาบาครองตำแหน่งที่สามในตลาดพับลิคคลาวด์ด้าน IaaS เป็นปีที่สี่ติดต่อกัน

รายงาน Worldwide Semiannual Public Cloud Service Tracker ล่าสุดจัดทำโดยบริษัทวิจัยตลาดและที่ปรึกษา International Data Corporation (IDC) ระบุว่าอาลีบาบายังคงครองตำแหน่งผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน (IaaS) พับลิคคลาวด์ ที่ใหญ่สุดเป็นอันดับสามของโลกในปี 2564

IDC Tracker เผยว่า อาลีบาบายังคงอยู่ในอันดับที่ 3 ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 7.4% นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวในห้าอันดับแรกที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในทวีปเอเชีย 

นายเจฟฟ์ จาง ประธานกรรมการ อาลีบาบา คลาวด์ อินเทลลิเจนซ์ กล่าวว่า “ตลาดคลาวด์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วสร้างโอกาสสำคัญอย่างมากต่อผู้ให้บริการทางเทคโนโลยีทั่วโลก ในการพัฒนา และขยายการนำเสนอบริการด้านต่าง ๆ ของตนสู่ตลาด เนื่องจากเศรษฐกิจดิจิทัลยังคงมีการพัฒนาต่อเนื่อง ความต้องการของธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งต้องการบริการด้านคลาวด์ที่สามารถปรับขนาดการทำงานได้ เชื่อถือได้ และคุ้มค่าการลงทุน ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามกัน อาลีบาบามีพันธะสัญญาที่จะช่วยให้ลูกค้าของเราทั่วโลกเข้าสู่สภาพแวดล้อมดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว ด้วยนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น” 

IDC tracker เผยให้เห็นข้อมูลว่าตลาดคลาวด์คอมพิวติ้งด้าน IaaS ทั่วโลกได้ขยายตัวถึงระดับ 91.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 35.6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งด้าน IaaS ที่อยู่ในสามลำดับแรกมีส่วนแบ่งตลาดโลกเกือบ 70% 

ผลที่ได้จากรายงานนี้เป็นการยืนยันความสำเร็จของกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจของอาลีบาบาไปทั่วโลกด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานและเน็ตเวิร์กทั่วโลก ปัจจุบัน อาลีบาบา คลาวด์ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและหน่วยงานหลักด้านอินเทลลิเจนซ์ของอาลีบาบา กรุ๊ป ให้บริการด้านคลาวด์คอมพิวติ้งแก่ลูกค้าหลายล้านรายทั่วโลกใน 84 โซน 27 ภูมิภาค 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ อาลีบาบาได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการหลัก (major player) ในรายงาน IDC MarketScape: Worldwide Commercial Content Delivery Network Services 2022 Vendor Assessment (Doc # US47652821, March 2022) ซึ่งทำการวิเคราะห์ผู้ให้บริการด้านเน็ตเวิร์กการรับส่งเนื้อหา (Content Deliver Network: CDN) จากความสามารถในการรับส่งเนื้อหาทั่วโลกและกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่สร้างการเติบโตทางธุรกิจ

ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม กับโอกาสในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย

ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม กับโอกาสในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย

ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม กับโอกาสในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย

การรับรู้และการเปิดกว้างของสังคมกับความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เห็นได้จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง “Pride Month” หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งได้รับผลตอบรับและเปิดรับความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น โดยผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIA+ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจต่าง ๆ ไม่น้อย ข้อมูลล่าสุดจาก LGBT Capital ณ สิ้นปี 2562 ระบุว่าผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIA+ กว่า 371 ล้านคนทั่วโลก (อายุ 15 ปีขึ้นไป) มีอำนาจการใช้จ่ายรวมกันถึง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยคิดเป็นผู้บริโภค LGBTQIA+ ชาวไทย 3.6 ล้านคน มีอำนาจการใช้จ่ายอยู่ที่ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ประมาณการส่วนแบ่งความมั่งคั่งในครัวเรือนของผู้บริโภค LGBTQIA+ ชาวไทยยังมีถึง 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 จากที่เคยแตะระดับ 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 สะท้อนให้เห็นกำลังซื้อของชาว LGBTQIA+ ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและยังมีพฤติกรรมการใช้เงินในระดับดีอีกด้วย เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย กลายเป็นเป้าหมายที่น่าจับตามองของหลายธุรกิจ 

ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เปิดประตูโอกาสเป็นเจ้าของบ้านของกลุ่ม LGBTQIA+ 

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ใน Pride Month ปีนี้คือความเคลื่อนไหวด้านกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … รวมทั้งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … หรือ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมในวาระที่ 1 ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIA+ ได้รับสิทธิทางกฎหมายในหลายด้าน แม้จะมีความคิดเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับความชัดเจนและความครอบคลุมของเนื้อหาในทางกฎหมายในด้านสิทธิและสวัสดิการบางอย่าง แต่นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าจับตาสำหรับผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIA+ ที่จะมีบทบาทร่วมกันมากขึ้นในการดูแลหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ ภายใต้กฎหมายในฐานะคู่สมรส

ด้านการซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นและมีความสำคัญในการเริ่มต้นสร้างครอบครัว แม้ปัจจุบันจะมีธนาคารหลายแห่งที่อนุมัติสินเชื่อบ้านการกู้ร่วมกันระหว่างคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่คาดว่าร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมนี้จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันให้ธนาคาร/สถาบันการเงินต่าง ๆ พิจารณาและเปิดโอกาสให้คู่รักชาว LGBTQIA+ มีสิทธิขอกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งมีมาตรการส่งเสริมเฉกเช่นคู่รักชายหญิง ซึ่งการกู้ร่วมนี้จะช่วยเปิดโอกาสให้คู่รักชาว LGBTQIA+ ยื่นกู้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในวงเงินที่สูงขึ้น และเลือกบ้านที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้มากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ธนาคาร/สถาบันการเงินหลายแห่งไม่สามารถให้สินเชื่อแก่ผู้กู้ร่วม LGBTQIA+ ได้ โดยให้เหตุผลสอดคล้องกันว่า ผู้กู้ร่วมนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกัน คือเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ร่วมเชื้อสายเดียวกัน หรือเป็นชายหญิงที่เป็นคู่สมรสกันนั่นเอง 

ด้วยเหตุนี้คู่รัก LGBTQIA+ ต้องใช้สินเชื่อประเภทอื่นในการซื้อที่อยู่อาศัย โดยการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจหรือ SME โดยคู่รัก LGBTQIA+ สามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรเพื่อประกอบกิจการได้ เช่น สถานประกอบการพร้อมที่ดิน หรือที่ดินเปล่าเพื่อใช้ดำเนินกิจการ แต่การกู้โดยใช้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME นั้นจะให้ช่วงระยะเวลากู้นานสุดเพียง 10 ปีเท่านั้น ซึ่งสั้นกว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งให้ระยะเวลาผ่อนสูงสุดถึง 30 ปี นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME นั้นยังมีอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอีกด้วย

นอกจากนี้ ปัจจุบันบางธนาคาร/สถาบันการเงินเปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQIA+ สามารถกู้ร่วมได้ แต่มีรายละเอียดบางอย่างแตกต่างจากการกู้ร่วมของคู่รักชายหญิง เช่น กู้ได้เพียง 90% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย เป็นต้น คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ธนาคาร/สถาบันการเงินจะมีมาตรการออกมารองรับผู้กู้ร่วมที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น และมีการประเมินความเสี่ยงของผู้กู้ร่วมชาว LGBTQIA+ อย่างเท่าเทียมกับคู่รักเพศชายและเพศหญิง

คู่รักชาว LGBTQIA+ กู้ซื้อบ้านอย่างไรให้ผ่าน
ปัจจุบันมีหลายธนาคารที่เปิดโอกาสให้คู่รักชาว LGBTQIA+ กู้ร่วมซื้อบ้านได้เช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ โดยมีรายละเอียดเบื้องต้นค่อนข้างคล้ายคลึงกัน เช่น 

    • มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
    • มีรายได้มั่นคง โดยมีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป ทั้งผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วม (บางธนาคารกำหนดให้ผู้กู้หลักมีรายได้ 50,000 บาทขึ้นไป)
    • พนักงานประจำต้องมีอายุงานรวมที่ทำงานเดิมและปัจจุบันตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป (บางธนาคารไม่มีกำหนด)
    • ผู้กู้ต้องมีเอกสารหรือหลักฐานแสดงความสัมพันธ์หรือการอยู่ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ตามที่ธนาคารกำหนด เช่น ทะเบียนบ้านที่อยู่ด้วยกัน, บัญชีเงินฝากที่เปิดร่วมกัน เป็นต้น (บางธนาคารไม่มีกำหนด)

นอกจากนี้ยังต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามปกติ คือต้องมีภาระหนี้ไม่เกิน 30-40% ของรายได้ มีเงินออมอย่างน้อย 10% ของราคาที่อยู่อาศัย รวมทั้งมีบันทึกการเคลื่อนไหวบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน หากมีการเตรียมตัวเบื้องต้นให้พร้อมตามรายละเอียดต่าง ๆ ข้างต้น ก็จะช่วยให้การกู้ซื้อบ้านของชาว LGBTQIA+ ลุล่วงไปได้ด้วยดี

เมื่อเทรนด์ที่อยู่อาศัยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศสภาพ บ้านแบบไหนตอบโจทย์ 

ความต้องการที่อยู่อาศัยถือเป็นเทรนด์ที่ปราศจากเพศ (Genderless) และปัจจัยที่ผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIA+ ใช้เมื่อเลือกที่อยู่อาศัยก็ไม่ต่างจากผู้บริโภคเพศชายและหญิงเลย เนื่องในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนี้ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย ชวนมาอัปเดตเทรนด์ที่อยู่อาศัยที่น่าจับตามอง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งรวมถึงชาว LGBTQIA+ 

    • บ้านที่ใช่ต้องมีขนาดเหมาะสม ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด เผยว่า เมื่อค้นหาที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเพื่อซื้อหรือเช่า ปัจจัยภายในที่ผู้บริโภคชาวไทยเกือบครึ่ง (49%) ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ขนาดของที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์และเหมาะสมกับสมาชิกในครอบครัว เนื่องจากให้ความสำคัญกับการแบ่งพื้นที่ใช้งานอย่างเป็นสัดส่วน จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรม ตามมาด้วยที่อยู่อาศัยจะต้องมาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน (46%) นอกจากนี้ ยังมองหามาตรการหรือโครงการที่จะช่วยให้มีบ้านเป็นของตัวเองง่ายขึ้น (37%) 
    • ทำเลปัง เดินทางง่าย ตอบโจทย์ Social Life ด้านปัจจัยภายนอกที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ เมื่อผู้บริโภคชาวไทยตัดสินใจซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยนั้น มากกว่าครึ่งให้ความสำคัญไปที่ทำเลที่ตั้งโครงการ (52%) ที่จำเป็นต้องอยู่ในทำเลที่เดินทางสะดวก ใกล้แหล่งความเจริญ ช่วยให้การใช้ชีวิตทุกวันง่ายขึ้น ตามมาด้วยสามารถเดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ (51%) เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทางเมื่อไปทำงานหรือสังสรรค์ใจกลางเมือง นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมองว่า โครงสร้างพื้นฐาน/สิ่งอำนวยความสะดวก และระบบรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ ถือเป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญในการพิจารณาไม่แพ้กัน (สัดส่วนเท่ากันที่ 43%) เนื่องจากเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัย การเดินทาง รวมไปถึงรองรับการใช้ชีวิตเมื่อพบปะสังสรรค์ หรือทำกิจกรรมกับเพื่อนและครอบครัว
    • อุ่นใจเมื่ออยู่ใกล้หมอ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลในการพิจารณาเลือกที่อยู่อาศัยคือความสะดวกในการเดินทางไปสถานพยาบาล โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคต่างหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่เพิ่มความอุ่นใจไปอีกขั้น คือการมีที่อยู่อาศัยที่ไม่ไกลจากสถานพยาบาล เอื้อต่อการวางแผนดูแลสุขภาพในระยะยาว โดยมากกว่า 4 ใน 5 ต้องการที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลมากที่สุด (88%) ตามมาด้วยอยู่ใกล้ร้านขายยา (45%) และใกล้ศูนย์บริการสุขภาพเฉพาะทาง (37%) 
    • ดูแลบ้านง่ายแค่ปลายนิ้วด้วยระบบ Smart Home เทรนด์บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ได้รับความสนใจมากขึ้นและเข้ามาตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี จากการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนให้ผู้อยู่อาศัยสามารถควบคุมการทำงานระบบต่าง ๆ ตั้งแต่ความปลอดภัย หรือสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้านผ่านการเชื่อมต่อด้วยระบบดิจิทัลและ Internet of Things (IoT) ให้สามารถสั่งงานด้วยเสียงหรือจากแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ช่วยยกระดับความปลอดภัยให้ที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นกลอนประตูดิจิทัล (Digital Door Lock) หรือกล้องวงจรปิดที่รองรับการรับชมภาพออนไลน์ได้ตลอดเวลาบนสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ ยังสามารถติดตั้งระบบควบคุมการเปิด-ปิดไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านผ่านสมาร์ทโฟนได้อีกด้วย

แม้ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะต้องรอติดตามความชัดเจนต่อไปในการพิจารณาวาระอื่น ๆ แต่ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของสังคมไทยกับความเสมอภาคทางเพศที่คาดว่าในอนาคตจะมีความชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีสถาบันการเงินหลายแห่งที่ออกมาตรการสนับสนุนการยื่นกู้สินเชื่อร่วมกันสำหรับคู่รักชาว LGBTQIA+ ที่ต้องการกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้าน ทั้งนี้เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย อย่างดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (www.ddproperty.com) ได้รวบรวมข้อมูลข่าวสารล่าสุดและเรื่องราวน่ารู้ในแวดวงอสังหาฯ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์ พร้อมเป็นแหล่งรวมประกาศซื้อ-ขาย-เช่าที่อยู่อาศัยในหลากหลายทำเลทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยสามารถศึกษาหาข้อมูลเรื่องที่อยากรู้ เตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อให้เป็นเจ้าของบ้านได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น