การแก้ไขปัญหาขยะอาหารในเอเชีย ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจะเป็นผู้นำในการลดขยะอาหารได้อย่างไร

infor

การแก้ไขปัญหาขยะอาหารในเอเชีย ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจะเป็นผู้นำในการลดขยะอาหารได้อย่างไร

Infor

บทความโดย นายฟาบิโอ ทิวิติ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินฟอร์ อาเชียน-อินเดีย

รายงานฉบับใหม่ของ Food Waste Index Report ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีมีอาหารกว่า 1.3 พันล้านตันถูกทิ้งเป็นขยะ ซึ่งคิดเป็นประมาณเกือบหนึ่งในสามของอาหารที่ผลิตได้ทั้งหมด โดยเป็นขยะอาหารจากครัวเรือนสูงถึง 60% ของจำนวนทั้งหมด และที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้น คือ ขยะอาหารทั่วโลกมากกว่าครึ่งเกิดขึ้นในเอเชียนี่เอง

ตัวเลขของขยะอาหารเป็นเรื่องที่น่าตกใจเป็นอย่างมาก เพราะขยะอาหารในทุกวันนี้ได้กลายเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกใหญ่เป็นอันดับสาม ทำให้ระบบอาหารทั่วโลกกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศมากที่สุด และปริมาณการสูญเสียอาหารก็เป็นเรื่องจริงที่ยากจะทำใจยอมรับได้

สำหรับประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า มีปริมาณขยะอาหารประมาณ 78.69 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และยังขาดการติดตามและจัดเก็บข้อมูลด้านการสูญเสียและขยะอาหารอย่างเป็นระบบ กรมควบคุมมลพิษจึงร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้โครงการการจัดการของเสียแบบผสมผสานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก (Integrated Waste Management for GHG Reduction) จัดทำ “การจัดทำแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหารของประเทศไทย (ผู้จำหน่ายอาหาร ผู้ประกอบอาหาร และผู้บริโภค)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนสถานการณ์การจัดการขยะอาหารในประเทศไทย นำเสนอดัชนีขยะอาหาร (Food Waste Index) รวมถึงความคิดเห็นในการจัดทำแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหารของประเทศไทย พ.ศ. 2564–2573 ที่ตั้งเป้าให้ลดปริมาณขยะอาหารลงร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2568 และร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2573

นอกจากนี้ จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยระบุว่า สํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ยังให้เงินอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาในการสํารวจปริมาณและที่มาของขยะอาหารและแนวทางในการลดขยะอาหาร โดยมีโรงแรมหลายแห่งเข้าร่วมโครงการ และมอบหมายให้องค์กรอิสระ Scholars of Sustenance (SOS) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากําไรที่มีระบบในการขนส่งอาหารที่ได้มาตรฐาน ทำหน้าที่กระจายอาหารส่วนเกินจากโรงแรม ภัตตาคาร ร้านค้าปลีก ไปยังสถานสงเคราะห์หรือชุมชนที่ต้องการ

โชคดีที่ยังมีการรับรู้ถึงปัญหาเร่งด่วนนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายหน่วยงานทั่วภูมิภาคเอเชียได้พยายามอย่างมากที่จะลดขยะอาหาร โดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องวันที่ควรบริโภคก่อน (best-before date) ซึ่งเป็นช่วงที่สินค้าจะมีคุณภาพดีที่สุด กับวันที่สินค้าหมดอายุ (use-by date) อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว และส่งผลกระทบต่อเนื่องทั่วทั้งภาคส่วน ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นผู้นำ โดยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์อัจฉริยะ เพื่อสกัดกั้นปัญหาตั้งแต่ต้นทาง

รายละเอียดทุกอย่างปรากฎอยู่บนฉลาก

ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ต้องแก้ไข คือ ความสับสนของผู้บริโภคเกี่ยวกับวันที่ที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ ในประเทศเกาหลี ผลสำรวจที่จัดทำโดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพแห่งเกาหลี (Korea Health Industry Development Institute) พบว่า 56.4% ของผู้บริโภค จะโยนอาหารทิ้งก่อนเวลาอันควร โดยดูจาก “ควรบริโภคภายในวัน” (“sell-by” dates) ซึ่งระบุว่าของชิ้นนั้นจะวางอยู่ในร้านได้ไม่เกินวันที่ระบุข้างกล่อง แทนที่จะดู “วันหมดอายุ” (“use-by” dates) เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาเนื่องจากการระบุวันสำหรับร้านค้าแบบแรกมักจะทำให้เข้าใจผิด เพราะโดยปกติแล้วจะหมายถึงอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ที่ 60-70% เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ กระทรวงความปลอดภัยด้านอาหารและยาของเกาหลีจึงกำหนดให้ปรับปรุงระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการติดฉลากอาหาร โดยใช้การระบุวันหมดอายุแทนวันสำหรับร้านค้าทั้งหมด ซึ่งจะเป็นอายุที่นานกว่า และไม่มีผลกระทบด้านความปลอดภัยใด ๆ หากผลิตภัณฑ์ได้รับการเก็บรักษาอย่างเหมาะสม

เมื่อเกิดความสับสนและความเข้าใจผิดกันอย่างมากเกี่ยวกับฉลากวันที่ของผลิตภัณฑ์ การที่ผู้บริโภคมีความตระหนักรู้และข้อมูลที่มากขึ้น จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการลดการสูญเสียอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่สามารถดำเนินการเชิงรุก เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของผู้บริโภค ในเรื่องการระบุวันที่ที่ผลิตภัณฑ์จะมีคุณภาพดีที่สุด (best-before) ไม่ใช่วันหมดอายุ ตลอดจนการใช้กฎระเบียบติดฉลากมาตรฐานตามที่เกาหลีได้ทำไว้

ชั้นวางสินค้าอัจฉริยะ และการแจ้งเตือนวันหมดอายุสินค้า

ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งได้เริ่มทดลองใช้ชั้นวางสินค้าอัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยลดราคาสินค้าให้สอดคล้องกับวันหมดอายุ และวันที่ที่ผลิตภัณฑ์จะมีคุณภาพดีที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีศักยภาพพอที่จะนำไปใช้งานในบ้านได้ โดยใช้กับตู้เย็นอัจฉริยะที่สามารถแจ้งเตือนผู้บริโภคถึงวันหมดอายุที่ใกล้จะถึง รวมถึงเตือนให้รับประทานผลิตภัณฑ์ก่อนที่จะหมดอายุ

การใช้อายุการเก็บรักษาสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ถูกปรับตามคุณภาพที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์นั้น สามารถใช้เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก และผู้บริโภค เพราะเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมนี้มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว และสามารถเป็นผู้ริเริ่มนำมาใช้ได้ โดยใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจของตน

การเปลี่ยนวิธีการติดฉลากและจัดเก็บผลิตภัณฑ์จะทำให้ผู้ผลิตมีโอกาสจะขึ้นเป็นผู้นำในวงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่ของการยืดอายุการเก็บรักษาให้นานสูงสุด เพื่อลดปริมาณการสูญเสียอาหารที่มากจนน่าตกใจในแต่ละวัน

การรวมโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเข้าไปในสมการ

เมื่อพูดถึงเรื่องอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์ การแก้ไขต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ สินค้าที่เน่าเสียง่ายก็ต้องใช้วิธีแบบหนึ่ง และแม้แต่สินค้าที่ไม่เน่าเสียง่ายก็อาจแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละล็อตผลิต ดังนั้น การนำความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) และแมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning – ML) เข้ามาใช้งานร่วมกันในด้านนี้ จะทำให้ผู้ผลิตสามารถเตรียมพร้อมสำหรับสต็อกสินค้าที่มีตัวแปรต่าง ๆ เกี่ยวข้องในกระบวนการได้ดียิ่งขึ้นในทุกขั้นตอนของซัพพลายเชนตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงมือผู้บริโภค รวมถึงกำหนดอายุการเก็บรักษาแบบไดนามิกสำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์

ในทางปฏิบัติ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบสภาพของส่วนผสม และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปลายทาง โดยพิจารณาจากเวลาและปัจจัยแวดล้อมในการจัดเก็บและการขนส่งในทุกระยะ ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการผลิต ตลอดจนการจัดทำโปรไฟล์คุณภาพของวัตถุดิบ และการตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์เมื่อมาถึงร้านค้าปลีก ซึ่งเหมาะต่อการนำอินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (Internet of Things – IoTs) มาใช้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก IoTs สามารถตรวจสอบตัวแปรสำคัญต่าง ๆ และส่งข้อมูลที่สำคัญนี้กลับเข้าสู่ระบบอัจฉริยะเพื่อการวิเคราะห์ได้ โดยจะช่วยกำหนดวันหมดอายุที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งจะสอดคล้องกับคุณสมบัติเฉพาะของผลิตภัณฑ์ในแต่ละล็อตการผลิต

ประโยชน์สามต่อที่ผู้ผลิตจะได้รับ

นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมต่าง ๆ จากความละเอียด และการมองเห็นของข้อมูลทั่วทั้งซัพพลายเชนอีกด้วย เนื่องจากระบบที่เหมาะสมสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกที่จำเป็น เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผน และให้ทางเลือกในการจัดหาแหล่งผลิตได้ดียิ่งขึ้น เช่น ผู้ผลิตจะได้รับแจ้งถึงส่วนผสมที่ต้องการและเวลาที่จะได้รับส่วนผสมนั้น ทำให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนสูตรเพื่อชดเชยกับความล่าช้า หรือข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นกับคุณภาพของส่วนผสม ในทำนองเดียวกัน ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ยังช่วยให้ผู้ผลิตสามารถตรวจสอบหาแหล่งผลิตส่วนผสมจากแหล่งอื่นได้หากพบว่าซัพพลายเออร์รายใดรายหนึ่งขาดสินค้า หรือเปลี่ยนไปใช้การขนส่งแบบอื่นแทนหากวิธีขนส่งที่ใช้อยู่มีส่วนทำให้อายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์สั้นลง

ยิ่งไปกว่านั้น การใช้กลยุทธ์ที่ชาญฉลาดและขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ยังสามารถส่งผลเชิงบวกต่อผลกำไรของธุรกิจได้อีกด้วย ในขณะที่ส่วนผสมที่มีคุณภาพสูงกว่าปกติจะให้อายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ที่นานกว่า ทว่า หากในที่สุดแล้วตัวผลิตภัณฑ์เองยังมีอายุการเก็บรักษาที่จำกัด เราก็ต้องตั้งคำถามถึงประโยชน์ในการจ่ายเพิ่มสำหรับส่วนผสมที่จะต้องมีความเสถียรและอยู่ได้นานขึ้น เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ธุรกิจจำนวนมากพยายามที่จะลดการสต็อกสินค้าให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในที่สุด การใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์อัจฉริยะจึงเป็นสิ่งสำคัญ และส่งผลช่วยให้ผู้ผลิตได้รับประโยชน์มากกว่าถึงสามต่อ ทั้งในเรื่องการลดการสูญเสียอาหาร ประหยัดต้นทุนทางธุรกิจ และปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ธุรกิจที่มองการณ์ไกลในภูมิภาคเอเชียต่างตระหนักดีถึงเรื่องนี้ และนำข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ไปปรับใช้กับซัพพลายเชนทั้งหมดของตน เพื่อปูทางไปสู่การลดปริมาณขยะอาหารทั่วโลก

การสูญเสียอาหารเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในทุกระดับของระบบนิเวศ โดยมีผลสะท้อนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตทั่วทั้งอุตสาหกรรมจึงค้นหาโซลูชันที่ชาญฉลาดและมีความรับผิดชอบ เพื่อจัดการกับหนึ่งในวิกฤตการณ์เร่งด่วนที่สุดที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

อะไรซ่อนอยู่ใน Metaverse

Metaverse

อะไรซ่อนอยู่ใน Metaverse

Selina Yuan

บทความโดย เซลินา หยวน ผู้จัดการทั่วไป หน่วยงานด้านธุรกิจระหว่างประเทศ อาลีบาบา คลาวด์ อินเทลลิเจนซ์

เมตาเวิร์ส (metaverse) คือโลกแห่งความเป็นไปได้อันไม่มีที่สิ้นสุด ที่เราเคยเห็นได้จากนวนิยายทางวิทยาศาสตร์ วิธีการง่ายที่สุดที่จะเข้าใจ metaverse ได้ดีคือการชมภาพยนตร์ฮอลลีวูดยอดนิยม เช่น Avatar และ Ready, Player One

Metaverse

เมตาเวิร์ส (metaverse) คือโลกแห่งความเป็นไปได้อันไม่มีที่สิ้นสุด ที่เราเคยเห็นได้จากนวนิยายทางวิทยาศาสตร์ วิธีการง่ายที่สุดที่จะเข้าใจ metaverse ได้ดีคือการชมภาพยนตร์ฮอลลีวูดยอดนิยม เช่น Avatar และ Ready, Player One

ในภาพยนตร์เหล่านี้ metaverse คือจักรวาลดิจิทัลสามมิติที่นักแสดงสามารถหลีกหนีจากความจริงทางกายภาพ สามารถมีส่วนร่วมกับผู้อื่นผ่านตัวตนจำลองในโลกเสมือนจริง (avatar: อวาตาร์) ของตนที่สร้างขึ้นมา และสามารถหาประสบการณ์จากทุกสิ่งที่ต้องการได้ โดยมีข้อจำกัดเพียงจินตนาการของมนุษย์และเทคโนโลยีเท่านั้น

นอกจาก metaverse จะเป็นคู่แฝดทางดิจิทัลของความเป็นจริงในโลกทางกายภาพที่ยอดเยี่ยมของเราแล้ว ยังมีศักยภาพที่แท้จริงซ่อนอยู่ นั่นคือความสามารถในการใช้ความชาญฉลาดทางดิจิทัลที่เราใช้ประโยชน์อยู่แล้วให้มีประสิทธิผลมากขึ้น และทำให้มองเห็นแนวทางการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ ที่ไม่เช่นนั้นก็อาจยังคงซ่อนอยู่ออกมา และนี่อาจเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้เราแก้ปัญหาต่าง ๆ ของโลกแห่งความเป็นจริง และสร้างโลกที่เขียวชอุ่มมากขึ้น มีความเสมอภาคและมีส่วนร่วมซึ่งกันและกันมากขึ้น และเป็นโลกที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

Metaverse ไม่เพียงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโลกเวอร์ชวลที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปใช้จัดการปัญหาเร่งด่วนมากมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

การคาดการณ์ด้านต่าง ๆ จากรายงานของ Institute of Chartered Accountants in England and Wales และ British Chamber of Commerce Singapore แสดงให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความสุ่มเสี่ยงมากที่สุดในโลก โดยหกในยี่สิบประเทศทั่วโลกที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศอยู่ในภูมิภาคนี้ คือ ประเทศอินโดนีเซีย ไทย เมียนมาร์ มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

อุทกภัยคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 250,000 ราย และสร้างความเสียหายมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2523 คิดเป็นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว เป็นภัยคุกคามที่แท้จริงต่อหมู่เกาะจำนวนมากตามชายฝั่งทะเลที่อยู่ในภูมิภาคนี้และที่มีพื้นที่ลุ่มต่ำ ภัยธรรมชาติเหล่านี้อาจทำลายบ้านเรือนจนอยู่อาศัยไม่ได้ และสร้างความกดดันต่อเนื่องมายังเรื่องของการจัดหาเสบียงอาหารและระบบเศรษฐกิจต่าง ๆ

ในเบื้องต้นอาลีบาบา คลาวด์ ได้สร้างแพลตฟอร์มที่มีการนำข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น (nowcasting platform) เพื่อใช้คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงสั้น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ภูมิภาคนี้สามารถควบคุมและรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสภาพอากาศได้ เทคโนโลยีที่ทำงานโดยการดึงภาพถ่ายดาวเทียมด้านอุตุนิยมวิทยาด้วยความแม่นยำสูงและในเวลาเรียลไทม์นี้ สามารถช่วยติดตามปริมาณน้ำฝน ความเร็วลม และสภาพอากาศที่รุนแรงต่าง ๆ เพื่อลดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรและปศุสัตว์ให้เหลือน้อยที่สุด ทั้งยังช่วยให้ผู้จัดส่งผลผลิตสามารถจัดเส้นทางการจัดส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่หากเราสามารถแปลงความชาญฉลาดนี้ให้กลายเป็น metaverse ได้ จะมีประโยชน์มหาศาล เช่น การแปลงและทำแผนที่ข้อมูลสาธารณะที่เกี่ยวกับสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดในรูปแบบต่าง ๆ หรือความถี่ของการเกิดภัยธรรมชาติให้เป็น metaverse จะช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น ในขณะที่การเก็บข้อมูลฝนที่ตกหนักเพียงอย่างเดียวโดยลำพัง จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลาที่จะเกิดน้ำท่วมรุนแรงได้เท่านั้น

ผลกระทบอันเนื่องมาจากภัยที่เกิดจากสภาพอากาศต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่จะเป็นเรื่องหนักหนาขึ้นมาทันที หากภัยเหล่านั้นเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยของใครสักคน เช่น ที่บ้าน หรือที่โรงเรียนของบุตรหลาน การสร้างสถานที่ต่าง ๆ ที่จำลองโลกจริงแบบสามมิติ (3D) ช่วยให้เราเห็นภาพภัยพิบัติจริงที่จะเกิดขึ้นในแต่ละสถานที่ที่เราคุ้นเคย โดยที่เหตุการณ์นั้นยังไม่เกิดขึ้นบนโลกจริง ซึ่งหากเกิดขึ้นอาจถึงกับต้องแลกด้วยชีวิต ผลกระทบแบบเสมือนจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใน metaverse จะเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจที่จริงจังว่ามนุษย์ควรดำเนินชีวิตและปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างไร

ปรับปรุงการดำเนินงานและการออกแบบสิ่งต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นไว้ในสภาพแวดล้อมและในภาคการผลิต ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

metaverse มีความเกี่ยวข้องทันทีกับเมืองต่าง ๆ ที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ การที่เราก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเทคโนโลยีคลาวด์และ IoT ต่าง ๆ มีอิทธิพลสูง metaverse จะเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการและทดสอบสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในอนาคต ก่อนที่จะนำไปใช้ในโลกจริง

ลองจินตนาการถึงฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงมากแห่งหนึ่งที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เป็นรูปทรงเรขาคณิตได้อย่างรวดเร็ว ถอดผลการคำนวณ และแสดงผลได้แบบเรียลไทม์ ผ่านแผนที่สามมิติที่สื่อสารกันได้ สิ่งนี้คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ฐานข้อมูลของอาลีบาบา คลาวด์ได้คำนึงถึงเมื่อตอนสร้าง GanosBase ขึ้นมาเป็นครั้งแรก GanosBase เป็นกลไกฐานข้อมูลแบบคลาวด์-เนทีฟ ที่สามารถวิเคราะห์และแปลข้อมูล 3D และ 4D เพื่อสร้างฝาแฝดดิจิทัล ทำการจำลองโลกทางกายภาพ

ในส่วนของการสร้างสภาพแวดล้อมนั้น การใช้ประโยชน์จากความเข้าใจเชิงลึกที่จำลองมาด้วยความชาญฉลาดแบบเรียลไทม์ จะช่วยสร้างโอกาสในการผสมผสานการออกแบบที่ยั่งยืนได้ดีกว่า ผู้ออกแบบสามารถเห็นภาพเสมือนจริงของโครงสร้างในการก่อสร้างอาคารหนึ่ง ๆ ใน metaverse และนำมาใช้ประโยชน์ เช่น เพื่อหาอัตราส่วนที่ลงตัวระหว่างหน้าต่างและผนัง, ใช้แสงจากธรรมชาติให้มากที่สุด, คาดการณ์วัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ว่าจะทนทานและยั่งยืนเพียงใด และเพื่อวางแผนแนวทางใหม่ ๆ ในการสร้างพื้นที่สีเขียวและอนุรักษ์ธรรมชาติ

Metaverse

การสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงที่สอดคล้องกับแผนการผลิตจริงผ่านเทคโนโลยี AR/VA และโฮโลแกรม (holographic) สามารถทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตได้ โรงงานที่มีการนำเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อถึงกัน หรืออุปกรณ์อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (Internet of Things: IoT) มาใช้ จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถจำลองการตั้งค่าการผลิตจริงใน metaverse ก่อนได้ เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานได้ฝึกฝนวิธีควบคุมการทำงานแบบเสมือนจริง และตรวจหาข้อผิดพลาดที่เกิดกับการตั้งค่าการผลิตต่าง ๆ ได้ โดยยังไม่ต้องสร้างสิ่งใดจริง ๆ เลย เช่นในสถานการณ์โควิด-19 ที่มีข้อจำกัดในการเดินทาง พนักงานที่อยู่ต่างประเทศจะได้รับการฝึกอบรมจากระยะไกล เพื่อให้ได้รู้จักและคุ้นเคยกับการทำงานแบบเสมือน ก่อนที่จะได้ทำงานกับเครื่องจักรจริง โดยไม่ต้องเสียเวลารอให้สถานการณ์ดีขึ้นจนเดินทางเข้าอบรมด้วยตนเองได้

เชาวน์ปัญญาที่เกิดใน metaverse นี้ สามารถถ่ายโอนไปยังโลกแห่งความจริงได้ เพื่อนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพให้กับ AI algorithms, เพื่อสนับสนุนการทรานส์ฟอร์มที่ชาญฉลาด และอัปเกรดโรงงานต่าง ๆ ทั้งยังใช้เพื่อทำเวิร์กช็อปและกำหนดสายการผลิตโดยไม่ต้องเสียเวลาที่ต้องเดินทางเข้าปฏิบัติงานด้วยตนเอง และลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร

เพิ่มสมรรถนะ metaverse ในอนาคต

การเพิ่มสมรรถนะให้กับสี่เทคโนโลยีเลเยอร์ของ metaverse ต้องใช้ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมาก เลเยอร์ที่ 1 จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี AI, คลาวด์ และ IoT ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อสร้างแบบจำลองทางเรขาคณิตของสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และแสดงผลผ่านอุปกรณ์ปลายทางที่หลากหลาย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สมจริง

เทคโนโลยีอื่น เช่น การเรนเดอร์จากระยะไกล ซึ่งทำการสตรีมอินพุตแบบเสมือนไปยังอุปกรณ์ต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ และระบบการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างโลกเสมือนให้ใกล้เคียงกับโลกทางกายภาพ และทำให้มั่นใจว่าผู้คนและวัตถุในโลกเสมือนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางกายภาพที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง

การสลายแนวแบ่งเขตของโลกเสมือนและโลกจริงให้หมดไป จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี AR และ VR เพื่อสร้างแผนที่สามมิติที่มีความแม่นยำสูง ในขณะเดียวกันก็มอบประสบการณ์ที่เป็นการเฉพาะให้ด้วย เช่น การบริการลูกค้าและการให้คำแนะนำแบบเสมือน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อเชื่อมสองโลกเข้าด้วยกัน

แม้ว่า metaverse เป็นการพัฒนาที่น่าตื่นเต้น แต่ก็ชัดเจนว่าจะทำให้เกิดความต้องการใช้พลังงานและมีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก องค์กรต่าง ๆ สามารถจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ได้ด้วยการพิจารณาใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการออกแบบ สร้าง และดำเนินงาน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด โดยผสานกับเทคโนโลยีหลักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การระบายความร้อนด้วยของเหลวเพื่อลดการใช้พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลเพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้า การใช้ระบบติดตามตรวจสอบที่เป็นอัตโนมัติ การบำรุงรักษาและการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับงานอื่น ๆ ที่ใช้พลังงานมาก

การที่เราต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงการใช้ metaverse ที่ต้องใช้พลังงานมากขึ้น ทำให้เราต้องยึดมั่นกับแนวทางการทำงานเพื่อความยั่งยืนและมีความรับผิดชอบทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ คาดตลาดอสังหาฯ ปี 65 มีแววฟื้น ลุ้นมาตรการรัฐ และการควบคุมการแพร่ระบาดช่วยหนุน

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้_DDproperty_Checklist for renters

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ คาดตลาดอสังหาฯ ปี 65 มีแววฟื้น ลุ้นมาตรการรัฐ และการควบคุมการแพร่ระบาดช่วยหนุน

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย สรุปภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 ถือเป็นปีแห่งความท้าทายและผันผวนสูง หลังเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงและส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งอุตสาหกรรม ทั้งผู้ผลิต ผู้พัฒนาอสังหาฯ แรงงานก่อสร้าง รวมทั้งผู้บริโภคที่แม้จะมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแต่ยังคงมีอุปสรรคจากสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางและหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินโดยตรง ต้องชะลอแผนการซื้อที่อยู่อาศัยออกไป ขณะที่เทรนด์ที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตแบบ New Normal ผู้บริโภคเลือกซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบและมองหาที่อยู่อาศัยในแถบชานเมืองมากขึ้น คาดตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2565 จะฟื้นตัวตามสภาพเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการจะเน้นระบายสต็อกคงค้างควบคู่กับการเปิดตัวโครงการใหม่เข้าสู่ตลาดเพื่อดึงดูดผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) และนักลงทุนที่มีกำลังซื้อพร้อม ผู้บริโภคยังมองมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นตัวช่วยสำคัญ และเป็นปัจจัยบวกช่วยกระตุ้นให้ตลาดอสังหาฯ กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

กมลภัทร แสวงกิจ

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า “ตัวแปรสำคัญของภาคธุรกิจในปีนี้ยังคงมาจากวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจหลักของประเทศอย่างทั่วหน้า รวมถึงภาคอสังหาฯ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยคาดการณ์ว่าปี 2564 จะเป็นปีที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อีกครั้ง แต่สถานการณ์ที่ผันผวนยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ ทำให้ตลาดอสังหาฯ ปีนี้ไม่สามารถเติบโตได้ดีเท่าที่ควร ประกอบกับการแข่งขันสงครามราคาที่ดุเดือดของผู้พัฒนาอสังหาฯ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ทำให้เกิดการดูดซับกำลังซื้อจากผู้บริโภคไปแล้วพอสมควร เมื่อต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเงินจากการแพร่ระบาดฯ ที่ยืดเยื้อ จึงทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ชะลอการซื้อออกไปก่อน แม้ว่าปีนี้ภาครัฐจะออกมาตรการที่เอื้อต่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น รวมถึงมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่มาตรการดังกล่าวก็ยังไม่สามารถช่วยกระตุ้นการเติบโตในตลาดอสังหาฯ ได้มากนัก เนื่องจากผู้บริโภคยังคงไม่มั่นใจกับสถานการณ์โควิด-19 และไม่มีกำลังซื้อเพียงพอจากผลกระทบของการแพร่ระบาดฯ”

DDproperty

โควิด-19 สร้างความกังวล ฉุดคนไทยชะลอซื้อบ้าน
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินและความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภค ส่งผลให้ต้องวางแผนการเงินอย่างรัดกุมในระยะยาว ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด พบว่า เกือบ 3 ใน 4 ของผู้บริโภคชาวไทย (71%) ยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยแต่เลือกที่จะชะลอการซื้อออกไปก่อน โดย 39% วางแผนจะซื้อบ้านภายใน 1-2 ปี

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเผยว่าอุปสรรคสำคัญที่มีผลต่อการซื้อที่อยู่อาศัยมาจากการขาดรายได้ในช่วงโควิด-19 ถึง 66% รองลงมาคือราคาที่อยู่อาศัย (63%) ตามมาด้วยความไม่แน่นอนทางการเมือง และธนาคารไม่อนุมัติสินเชื่อบ้านในสัดส่วนเท่ากัน (37%) สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาทางการเงินยังคงเป็นอุปสรรคอันดับต้น ๆ ของคนหาบ้าน

นอกจากนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ (80%) มองว่ารัฐบาลยังไม่ค่อยมีส่วนช่วยที่จะทำให้คนในประเทศสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ โดยมาตรการเยียวยาภาคอสังหาฯ ที่ต้องการมากที่สุดจากภาครัฐ คือ การลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านทั้งบ้านใหม่และบ้านที่กำลังผ่อนอยู่ (57%) เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ที่ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเองท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

ถอดบทเรียน ‘โอกาส – ความท้าทาย’ ของอสังหาฯ ปี 64

DDproperty

ภาพรวมการเติบโตของภาคอสังหาฯ ที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ส่งผลให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ ส่วนใหญ่ชะลอการเปิดโครงการใหม่ออกไปก่อน โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม และหันมาเน้นระบายสต็อกคงค้างผ่านสงครามราคาเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในช่วงนี้แทน จึงทำให้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในปี 2564 โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ในภาพรวมยังคงปรับตัวลดลงถึง 11% จากรอบปีก่อน นอกจากนี้ จำนวนอุปทานยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอุปทานคงค้างในตลาดบวกกับอัตราการดูดซับที่ลดลง อย่างไรก็ดี แนวโน้มอุปทานที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีความต้องการในตลาดสูง โดยบ้านเดี่ยวมีจำนวนอุปทานเพิ่มขึ้น 33% จากปีก่อนหน้า ทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 30% ส่วนคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น 11%

นอกจากเทรนด์ที่อยู่อาศัยแนวราบจะได้รับความนิยมจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปแล้ว เทรนด์การพัฒนาที่อยู่อาศัยยังกระจายออกไปในทำเลนอกเขตศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ (City Fringe) และแถบชานเมือง (Outskirts) มากขึ้น เนื่องจากเป็นทำเลที่สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบในราคาที่เอื้อมได้ ประกอบกับปัจจัยบวกจากการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อการเดินทางสู่ใจกลางเมืองได้สะดวกขึ้น ข้อมูลจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ถือเป็นสัญญาณบวกที่ทุกภาคส่วนเฝ้ารอ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะฟื้นตัว โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดท่องเที่ยวในประเทศที่ทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมของภาครัฐ และการระดมฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดแรงงานและกำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามไปด้วย

จับตาทิศทางอสังหาฯ ปี 65 รอเวลาฟื้นตามเศรษฐกิจ
“คาดว่าปี 2565 จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของตลาดอสังหาฯ ไทย โดยเริ่มเห็นสัญญาณบวกในช่วงท้ายปี 2564 แต่คาดว่าระดับราคาอสังหาฯ จะยังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก ควบคู่ไปกับการออกแคมเปญหรือโปรโมชั่น เพื่อดึงดูดกำลังซื้อจากผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) และนักลงทุนที่มีความพร้อมและหวังผลตอบแทนในระยะยาว ในขณะที่อุปทานยังไม่มีสัญญาณล้นตลาด (Oversupply) หรือเกิดภาวะฟองสบู่ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา คือ ความคืบหน้าในการควบคุมการแพร่ระบาดฯ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคอสังหาฯ จากภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางการเติบโตโดยตรง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเปราะบางและมีความไม่แน่นอน ผู้ประกอบการและผู้บริโภคจึงควรติดตามสถานการณ์การระบาดฯ หลังเปิดประเทศ และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างใกล้ชิดก่อนตัดสินใจ” นางกมลภัทร กล่าวเสริม

อ่านและศึกษาข้อมูลภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2565 ได้จากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Outlook 2565

“ทรูมันนี่” จับมือ สถานีบริการน้ำมัน PT ร่วมสร้างสังคมไร้เงินสด เปิดรับชำระค่าน้ำมันผ่านแอปฯ TrueMoney Wallet

Truemoney

“ทรูมันนี่” จับมือ สถานีบริการน้ำมัน PT ร่วมสร้างสังคมไร้เงินสดเปิดรับชำระค่าน้ำมันผ่านแอปฯ TrueMoney Wallet

มอบ Cash Back 3% (สูงสุด 30 บาท) รับการเดินทางช่วงหยุดยาวปลายปี

ทรูมันนี่ ผู้นำด้านบริการอิเล็กทรอนิกส์เพย์เมนท์ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมมือกับ แมกซ์ โซลูชัน เซอร์วิส บริษัทที่ดูแลด้านการตลาดให้กับ PTG และบริษัทในเครือเปิดบริการรับชำระเงินค่าน้ำมันผ่านแอปฯ TrueMoney Wallet เป็นครั้งแรก ครอบคลุมสถานีบริการน้ำมันของ PT ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 74 แห่งที่ร่วมรายการ มอบประสบการณ์การใช้จ่ายแบบ “แทนเงินสด ลดสัมผัส” เพื่อมอบความสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ พร้อมจัดโปรโมชั่นพิเศษ Cash Back รับเงินคืนเงิน 3% (สูงสุด 30 บาท)  เมื่อชำระค่าน้ำมันผ่านแอปฯ TrueMoney Wallet เอาใจผู้ที่ต้องการเดินทางเพื่อไปพักผ่อนช่วงปลายปีตลอดเดือนธันวาคมนี้

นายกรวุฒิ ปวิตรปก ผู้อำนวยการฝ่ายทางพาณิชย์ บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด กล่าวว่า “ทรูมันนี่ มุ่งมั่นขยายพันธมิตรใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้ทรูมันนี่เป็นแพลตฟอร์มการใช้จ่ายที่ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นด้านความบันเทิง ช็อปปิ้งตามร้านค้า หรือร้านอาหารต่าง ๆ ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงในด้านการเดินทาง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของเราในปีนี้ที่ต้องการขยายและทำแคมเปญร่วมกันกับพันธมิตรเพื่อส่งเสริมการใช้ Cashless Payment ในวงกว้างยิ่งขึ้น ทรูมันนี่มั่นใจว่าความร่วมมือกับสถานีบริการน้ำมัน PT ในครั้งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างความคุ้มค่าให้แก่ผู้ใช้ทรูมันนี่กว่า 20 ล้านราย รวมถึงลูกค้าของ PT ได้ใช้จ่ายปลอดภัยห่างไกลจากความเสี่ยงในการสัมผัส เมื่อต้องออกไปนอกบ้านและเดินทางสัญจรไปตามสถานที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ PT และ ทรูมันนี่ ยังได้จัดโปรฯ พิเศษ มอบเงินคืนเข้าบัญชีทรูมันนี่ วอลเล็ทสูงสุด 3% (สูงสุด 30 บาท) เมื่อชำระค่าน้ำมันผ่านแอปฯ TrueMoney Wallet เพื่อให้ทุกการใช้จ่ายของลูกค้าคุ้มค่าที่สุด”  

นายพร้อมศักดิ์ จรัญญากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมกซ์ โซลูชัน เซอร์วิส จำกัด (บริษัทในเครือพีทีจี) กล่าวว่า “เรามุ่งมั่นที่จะนำเสนอบริการรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์สุดพิเศษให้กับลูกค้าสมาชิก PT Max Card กว่า 16 ล้านสมาชิกทั่วประเทศมาโดยตลอด ซึ่งความร่วมมือกับทรูมันนี่ครั้งนี้นับเป็นการตอกย้ำถึงความตั้งใจจริงของทั้งสองแบรนด์ในการขยายช่องทางเพย์เมนต์ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าผู้ใช้บริการให้ได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยยิ่งขึ้นต่อการลดการสัมผัส และไม่ต้องกังวลเรื่องการพกพาเงินสดไม่ว่าจะเป็นการเติมน้ำมัน หรือใช้บริการร้านกาแฟพันธุ์ไทย อีกทั้งยังเป็นการขยายฐานลูกค้ารายใหม่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคตอีกด้วย”

พิเศษ​! สำหรับลูกค้าที่ชำระค่าน้ำมันผ่านแอปฯ TrueMoney Wallet เมื่อชำระค่าน้ำมันไม่มีขั้นต่ำ ณ สถานีบริการน้ำมัน PT ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 74 แห่งที่ร่วมรายการ รับเงินคืนทันที 3% (สูงสุด 30 บาท) ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธันวาคม ศกนี้ คลิกอ่านรายละเอียดและเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ที่ https://www.truemoney.com/a/pt-promotion-111/ 

PTG

*หมายเหตุ

      • สิทธิพิเศษมีจำนวนจำกัด
      • เฉพาะสาขาบริการน้ำมันที่ร่วมรายการ
      • ไม่สามารถใช้ร่วมกับรายการส่งเสริมการขายอื่น
      • เงื่อนไขเป็นไปตามบริษัทฯ กำหนด

iQiyi ใช้ Alipay+ ขยายตลาด พัฒนาการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ทั่วเอเชีย

Alipayplus

iQiyi ใช้ Alipay+ ขยายตลาด พัฒนาการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ทั่วเอเชีย

iQiyi ปรับใช้โซลูชั่นการตลาดและการชำระเงิน Alipay+ อย่างครบวงจรในเอเชีย ครอบคลุมไทย เกาหลี อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

“อ้ายฉีอี้” (iQiyi) แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งชั้นนำของเอเชีย จับมือแอนท์กรุ๊ป (Ant Group) ประกาศโครงการความร่วมมือที่รองรับการใช้งานของโซลูชั่นระดับโลกด้านการตลาดและการชำระเงินระหว่างประเทศ Alipay+ อย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยให้ iQiyi สามารถขยายตลาดได้อย่างกว้างขวาง ด้วยการนำเสนอทางเลือกในการชำระเงิน และพัฒนาการมีส่วนร่วมของผู้ใช้มากขึ้น

การประกาศความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการประชุม Asia TV Forum & Market ของปีนี้ โดย แอนนา พัค เบอร์ดิน หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ iQiyi International กล่าวว่า “ด้วยความเป็นบริษัทที่จัดตั้งและเติบโตในเอเชีย เป้าหมายของเราคือการนำเสนอเรื่องราวและคอนเทนต์เอเชียสู่สายตาชาวโลก เรามุ่งมั่นร่วมมือกับพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์ในทิศทางเดียวกันเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวร่วมกัน บริษัทมีความยินดีในความร่วมมือกับ Alipay+ ครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยขยายการเข้าถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของเราผ่านทางเครือข่ายและช่องทางต่างๆ ของ Alipay+ ในเอเชีย ความร่วมมือนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการนำเสนอคอนเทนต์เอเชียที่น่าสนใจ มีความเป็นสากลทั้งพล็อตและรายละเอียดต่าง ๆ ให้แก่ผู้ชมทั่วโลก”

ความร่วมมือดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ iQiyi นำโซลูชั่นการชำระเงิน Alipay+ มาใช้ภายในแอพเมื่อปี 2563 เพื่อเพิ่มความสะดวกในการซื้อบริการสตรีมมิ่งของ iQiyi และขยายการเข้าถึงผู้ใช้งานอี-วอลเล็ท (E-wallet) ในเอเชีย โดยระบบจะเชื่อมต่อกับบริการอี-วอลเล็ทต่าง ๆ เช่น บริการทรูมันนี่ (TrueMoney) ในไทย, Kakao Pay ในเกาหลี, Dana ในอินโดนีเซีย, Touch’n’Go ในมาเลเซีย และ GCash ในฟิลิปปินส์

ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ทั้งสองแบรนด์จะทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับการทำการตลาดของ iQiyi ผ่านทางแคมเปญการตลาดและช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้ iQiyi สามารถให้บริการแก่ผู้ใช้งานทั่วเอเชียได้มากขึ้น พร้อมพัฒนาทางเลือกในการชำระเงินเพื่อรองรับคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคนี้ซึ่งคุ้นเคยกับการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นหลัก (mobile-native audience) และรักษาการเติบโตทางธุรกิจในระยะยาว

แอนท์กรุ๊ปได้เปิดตัวโซลูชั่นการตลาดและการชำระเงิน Alipay+ เมื่อปี 2563 โดยโซลูชั่นดังกล่าวสร้างมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่สามารถยอมรับวิธีการชำระเงินได้หลากหลายวิธีมากขึ้น และจัดแคมเปญด้านการตลาดดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่าย โซลูชั่น Alipay+ เชื่อมต่อกับเครือข่ายพาร์ทเนอร์ ผู้ให้บริการอี-วอลเล็ท และธนาคารต่าง ๆ ดังนั้นผู้ค้าและผู้ประกอบการจึงสามารถเข้าถึงและเชื่อมต่อกับผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งแบรนด์ชั้นนำระดับโลกและระดับท้องถิ่นจากกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่ธุรกิจบันเทิงดิจิทัลไปจนถึงบริการไลฟ์สไตล์ ร่วมมือกับ Alipay+ และผู้ให้บริการอี-วอลเล็ทชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการจัดแคมเปญ 11.11 Mega Deals โดยมีการแจกจ่ายคูปองส่วนลดกว่า 10 ล้านชุด เพื่อสนับสนุนมหกรรมช้อปปิ้งครั้งใหญ่ประจำปี และกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาด

สการ์เล็ต ชิง หัวหน้าฝ่ายการตลาดและปฏิบัติการด้านความร่วมมือกับผู้ค้าทั่วโลก กลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศของแอนท์กรุ๊ป กล่าวว่า “การทำตลาดผ่านหลากหลายช่องทางในภูมิภาคต่าง ๆ นับเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้ประกอบการทั้งในส่วนของธุรกิจออนไลน์และออฟไลน์ โซลูชั่น Alipay+ จึงนำเสนอทางเลือกที่มีทั้งความหลากหลาย ความคล่องตัวสูง และยังประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับการทำตลาดให้กับแบรนด์ต่างๆ ทั้งยังสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว”

ทาง iQiyi และ Alipay+ ยังมีแผนขยายตลาดด้วยการดึงดูดผู้ใช้งานอี-วอลเล็ทในเอเชียด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น แคมเปญดิจิทัล สิทธิพิเศษ และคูปองส่วนลด

“ด้วยความเชี่ยวชาญของ iQiyi ในเรื่องดิจิทัลคอนเทนต์ และความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายร่วมกันในภูมิภาคนี้ เราหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมในยุคโมบายล์ ซึ่งจะช่วยยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้งานไปขั้นหนึ่ง” สการ์เล็ต ชิง กล่าว

หลังจากที่จัดตั้งสำนักงานใหญ่ระหว่างประเทศที่สิงคโปร์เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว iQiyi ได้เปิดสำนักงานสาขาในประเทศและภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ตะวันออกกลาง และอเมริกาเหนือ โดยมีทีมงานฝ่ายพัฒนาคอนเทนต์ประจำที่เกาหลีใต้ และล่าสุดได้ประกาศแผนการผลิตซีรี่ย์ 4 เรื่องจากเกาหลีใต้ และซีรีย์เรื่องแรกจากฟิลิปปินส์